สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 65 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจาก 1.5% ในปี 64 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% การส่งออก ขยายตัว 7.5% การนำเข้า ขยายตัว 17.8% ดุลการค้าเกินดุล 19.1 พันล้านดอลลาร์ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3.6% ต่อ GDP
โดยคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในปี 65 จะอยู่ที่ 5.7 แสนล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.2 ล้านคน
"ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 65 และ 66 ในช่วงถัดจากนี้ไปนั้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเมื่อเราผ่อนคลายการเดินทางแล้ว เปิดประเทศเต็มที่ การเดินทางระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การขยายตัวของการลงทุน ทั้งรัฐและเอกชนยังขยายตัวได้ดี ซึ่งได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 63 และ 64 ค่อนข้างมาก ดังนั้น ถ้าเร่งลงทุนในปีหน้าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง" นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 65 นั้น นายดนุชา มองว่า อาจไม่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ออกมา เนื่องจากในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปี 66 แต่ละกระทรวงจะมีการทำมาตรการของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งมาตรการที่ออกมา อาจจะไม่ใช่มาตรการใหม่ แต่เป็นมาตรการช่วยเรื่องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
ขณะที่มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้น หากจะต้องมี คงต้องเป็นมาตรการที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น รวมทั้งการดูแลปัญหาค่าครองชีพ และราคาพลังงาน หากจะมีมาตรการออกมา คงต้องพุ่งเป้าและตรงจุดในการลดค่าใช้จ่ายให้ภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
"ปลายปีนี้ จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหรือไม่นั้น หากดูตัวเลขตอนนี้คงไม่ถึงขั้นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ออกมา เพราะปลายปีนี้ถึงต้นปี จะมีของขวัญปีใหม่เป็นมาตรการที่รัฐบาลจะออกมา ไม่ใช่มาตรการใหญ่ แต่ช่วยประชาชนได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติม แล้วไปลดภาษีปีหน้า คงเป็นแบบนั้น ตอนนี้ยังคุยกันอยู่ว่าจะมีหรือไม่" นายดนุชา กล่าว
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น สภาพัฒน์มองว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ครัวเรือนมีกำลังในการใช้จ่ายที่เพียงพอขึ้น แต่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้จะเป็นความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้ามีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจยังขยายตัวได้เช่นนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลมากนัก
"ปัญหาหนี้ครัวเรือน ยังไว้วางใจไม่ได้ ต้องแก้ไปเรื่อยๆ หนี้ครัวเรือนเป็นเหมือนระเบิดเวลา ต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการก่อหนี้เกินตัวไปเรื่อยๆ และเกิดปัญหาในระบบเศรษฐกิจตามมา" นายดนุชากล่าว
เลขาธิการสภาพัฒน์ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจาก 1.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 2.การขยายตัวของการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน 3.การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และ 4.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการเกษตร นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังคาดการณ์ว่า ในปี 66 การส่งออก จะขยายตัวได้ 1% การนำเข้า ขยายตัว 1.6% เงินเฟ้อ 2.5-3.5% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.1% ต่อ GDP ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว 1.2 ล้านล้านบาท และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 23.5 ล้านคน โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญของปีหน้า คือ ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลต่อความตึงตัวในตลาดการเงินโลก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ แนวโน้มการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน จากนโยบาย Zero Covid และปัญหาหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และปัจจัยเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับสมมติฐานสำคัญที่สภาพัฒน์ใช้ในการประมาณการเศรษฐกิจปี 65-66 มีดังนี้ 1. การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ปี 65 คาดว่าอยู่ที่ 3.1% และปี 66 อยู่ที่ 2.6% 2. ปริมาณการค้าโลก ปี 65 คาดว่าอยู่ที่ 4.0% และปี 66 อยู่ที่ 2.0% 3. อัตราแลกเปลี่ยน ปี 65 เฉลี่ยที่ 35.20 บาท/ดอลลาร์ และปี 66 เฉลี่ยที่ 35.50-36.50 บาท/ดอลลาร์ 4. ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปี 65 เฉลี่ยที่ 98.50 ดอลลาร์/บาร์เรล และปี 66 เฉลี่ยที่ 85-95 ดอลลาร์/บาร์เรล 5. รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 65 ที่ 5.7 แสนล้านบาท และปี 66 ที่ 1.2 ล้านล้านบาท เลขาธิการสภาพัฒน์ มองว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 66 ควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้ 1) การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 2) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 2566/2567 3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า ทั้งตลาดที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดี และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ควบคู่กับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี 4) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มศักยภาพ 5) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ดูแลสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 7) การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก 8) การติดตาม เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19