กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.75-36.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.76 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.53-36.01 โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินปอนด์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่าเฟดอาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้า
อย่างไรก็ดี ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ระบุว่าจำเป็นจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปโดยการคาดการณ์แบบเข้มงวดบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่า 7% ในอนาคต และการที่อัตราเงินเฟ้อเดือนล่าสุดต่ำเกินคาดถือเป็นเพียงหลักฐานพียงชั่วคราวเท่านั้นที่แสดงว่าแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกเดือน ต.ค.ของสหรัฐฯยังออกมาสดใสเกินคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 6,735 ล้านบาท และ 24,665 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับรายงานประชุมเฟดเมื่อวันที่ 1-2 พ.ย.65 ก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้าซึ่งปริมาณธุรกรรมอาจซึมลง
ทางด้านอังกฤษประกาศแผนงบประมาณขนาด 5.5 หมื่นล้านปอนด์ต่อปี เพื่อแก้ไขสถานะทางการเงินของรัฐบาลอังกฤษ โดยแผนดังกล่าวรวมถึงการปรับขึ้นภาษีและการปรับลดงบรายจ่ายของรัฐบาลในอนาคต
อนึ่ง กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่าแผนรัดเข็มขัดทางการคลังที่ล่าช้าออกไปหลังการเลือกตั้งสร้างความไม่แน่นอนในทางปฎิบัติขณะที่อังกฤษเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชั้นนำที่ยังคงมีขนาดเศรษฐกิจต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 41 ปีที่ 11.1% ในเดือน ต.ค.65 ทั้งหมดนี้จะเป็นประเด็นกดดันค่าเงินปอนด์ในระยะข้างหน้า
สำหรับปัจจัยในประเทศ จีดีพีไตรมาส 3/65 เติบโต 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามความคาดหมายของตลาด ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.2% และ 3-4% ในปี 65 และ 66 ตามลำดับ ทางด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าจะไม่ดำเนินนโยบายการเงินที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด สนับสนุนมุมมองที่ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 1.25% ในการประชุมวันที่ 30 พ.ย.นี้ โดย ธปท.ประเมินว่าเงินบาทในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่รับได้และยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ ขณะที่คาดว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังคงผันผวนต่อเนื่อง