SCB EIC ชี้ศก.ไทยปี 66 ส่อแววไม่สดใสมาก ผลพวงศก.โลกชะลอ-ความไม่แน่นอนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 22, 2022 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB EIC ชี้ศก.ไทยปี 66 ส่อแววไม่สดใสมาก ผลพวงศก.โลกชะลอ-ความไม่แน่นอนสูง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดปี 66 เศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกที่จะชะลอตัวลงมากจากที่เคยเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศจากการส่งออกที่ชะลอลง และปัจจัยภายในประเทศจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ซบเซาและฟื้นตัวช้า รวมถึงตลาดสำคัญทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้และกลางปีหน้า ตามลำดับ

ทั้งนี้ ส่งผลต่อเนื่องทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชน อาจขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ด้านแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะมีน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลังทำให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในปี 66 ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ปรับสูงขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจไทยจะได้ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อน ที่ทำให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ แต่ยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน

EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงต่ำจากปัจจัยภายนอกประเทศเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป โดยเฉพาะในปี 66 ได้แก่

1. เศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านนโยบายเศรษฐกิจและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย

2. การใช้นโยบาย Zero covid ของจีนที่อาจยาวนานกว่าคาด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยได้น้อยลงและช้าลง รวมถึงอาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายได้ช้าลง

3. ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง

4. ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

5. ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในช่วงต้นปี 66 รวมถึงภาระทางการคลังที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายอุดหนุนต่างๆ ภายหลังการหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการใช้มาตรการการพยุงค่าครองชีพเป็นวงกว้าง

สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 65 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยภาคการท่องเที่ยว ซึ่ง EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยราว 10.3 ล้านคน ตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) การทยอยลดมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก อีกทั้งจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเป็น 202.4 ล้านคน/ครั้ง ในปี 65

ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 4 ผู้เยี่ยมเยือนไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วง High season โดยจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสาน จะเป็นจุดหมายที่ดึงดูดผู้เยี่ยมเยือนไทยได้ดีในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ภาคบริการ โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานกลับมาเป็นปกติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าแม้อาจได้รับอานิสงส์จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และวัตถุดิบ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย แต่ในภาพรวมมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อีกทั้งเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเต็มจำนวนแล้ว และรอเบิกจ่ายอีกราว 42,000 ล้านบาท

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปี 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวได้ 4.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับสู่ภาวะปกติ และอีกส่วนนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐาน เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของปี 64 ที่เผชิญวิกฤตโควิดจนต้องปิดเมืองและปิดประเทศ จากนโยบายควบคุมการระบาดเข้มงวด

หากพิจารณาการขยายตัวเทียบกับเดือนก่อนหลังปรับปัจจัยฤดูกาล พบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.2% เร่งขึ้นจาก 0.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวที่เดิมซบเซาจากการระบาดของโควิด และมาตรการควบคุมโรคได้ฟื้นตัวขึ้นมาก ตามการเปิดเมืองและเปิดประเทศ

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 65 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 5.7 ล้านคน และจำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยมากถึง144.5 ล้านคน/ครั้ง เทียบกับ 85,000 คน และ 40 ล้านคน/ครั้ง ใน 3 ไตรมาส 1 ของปี 64 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา แรงสนับสนุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ในไตรมาสนี้แรงสนับสนุนจากภาครัฐแผ่วลงตามเม็ดเงินที่มีจำกัดมากขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาฝั่งการผลิต (Production approach) พบว่า หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้จากเดิมที่หดตัวในไตรมาสก่อน ภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและขยายตัวเร่งขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่ภาคก่อสร้างยังคงหดตัวตามการก่อสร้างภาครัฐที่ลดลง ประกอบกับการหดตัวของภาคเกษตร ตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย และกระทบการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขนส่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ