นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยในงานสัมมนา "เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2565-2580 (Energy Efficiency Plan : EEP2022)" ว่า แผนอนุรักษ์พลังงาน ถือเป็น 1 ใน 5 ของแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) โดยมีเป้าหมายลดการใช้พลังงานของประเทศ ซึ่งในร่างแผน EEP2022 ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 จากแผน EEP2018 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน Energy Intensity ในปี2580 จากเดิม 30% เป็น 36% หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 ktoe และตลอดถึงปี 2593 (ค.ศ.2050) มีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานลง 40% หรือ 64,340 ktoe เมื่อเทียบกับปี 2553
โดยได้กำหนดมาตรการที่สำคัญไว้อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน/อาคารควบคุม, การบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code), การส่งเสริมมาตรฐานอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและฉลากเบอร์ 5, การส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน, การอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรม Smart Farming และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่ง โดยมีเป้าหมายอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง 17,039 ktoe ในปี 2580 เป็นต้น
ทั้งนี้ยังปรับสมมติฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงและการคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคต โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2023-2036 (2566-2579) จะเติบโตเฉลี่ย 3.1% และ GDP ปี 2037-2050 (2580-2593) จะเติบโตเฉลี่ย 2.6% จากประชากรที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทางพลังงาน (energy growth) "สาระสำคัญของร่างแผน EEP2022 คือ การยกระดับเป้าหมายโดยการลด EI ลง 36% ภายในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2553 หรือคิดเป็นการลดพลังงานลง 35,497 ktoe, ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt-CO2) รวมถึงมุ่งเน้นมาตรการเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้พลังงาน (Disruptive Technology) และเพิ่มมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน ประกอบกับมีมาตรการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายสำหรับผู้ใช้พลังงานและสร้างการมีส่วนร่วมของการอนุรักษ์พลังงานในทุกภาคส่วน" นายประเสริฐ กล่าว
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยในแง่ของเศรษฐกิจ จะก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานที่ประหยัดได้ 35,497 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นมูลค่า 532,455 ล้านบาท, เกิดการสร้างงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านสังคม ช่วยสร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Awareness), สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้พลังงาน, เกิดภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนของสถานการณ์พลังงาน และแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt-CO2)
โดยหลังจากนี้ พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อจัดทำร่างแผนอนุรักษ์พลังงานที่สมบูรณ์และทุกภาคส่วนให้การยอมรับ และจะนำไปใช้ให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป