นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนต.ค.65 มีมูลค่า 21,772 ล้านดอลลาร์ หดตัว -4.4% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 22,368 ล้านดอลลาร์ หดตัว -2.1% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 596 ล้านดอลลาร์
ขณะที่การส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 243,138 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.1% การนำเข้า มีมูลค่า 258,719 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 18.3% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 15,581 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน ต.ค.65 พลิกมาติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน นับตังแต่เดือน ก.พ.64 ที่การส่งออกติดลบ -4.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกดดันการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปี 66 คือ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการ Zero Covid ของจีนที่ยังไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลง รวมถึงดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของประเทศคู่ค้าสำคัญลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ยังมั่นใจว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% อย่างแน่นอน
"การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นแรงเสียดทานต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปี 66 รวมทั้งมาตรการ Zero Covid ของจีนที่ยังไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลง ตลอดจนดัชนี PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ที่ลดลงต่อเนื่อง...แต่เป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 4% เชื่อว่าจะทำได้เกินกว่าเป้าเกือบเท่าตัว" นายจุรินทร์ ระบุ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า หากแยกการส่งออกเดือนต.ค.65 ตามรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าการส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 1,915 ล้านดอลลาร์ หดตัว -4.3% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,688 ล้านดอลลาร์ หดตัว -2.3% สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 17,939 ล้านดอลลาร์ หดตัว -3.5%
ทั้งนี้ สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มูลค่าการส่งออกลดลง เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เนื่องจากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกอ่อนตัวลง, อุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ จากปัญหาการขาดแคลนชิป และปัญหาการขนส่ง, เหล็กและผลิตภัณฑ์ จากผลของราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว
สำหรับตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีในเดือน ต.ค.นี้ 10 อันดับแรก คือ สวิสเซอร์แลนด์ ขยายตัว 103.5%, ซาอุดีอาระเบีย 49.6%, ลาว ขยายตัว 28.8%, ออสเตรเลีย ขยายตัว 18.8%, เวียดนาม ขยายตัว 13.3%, ไต้หวัน ขยายตัว 6.3%, กัมพูชา ขยายตัว 5.2%, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 4.1%, สหราชอาณาจักร ขยายตัว 3.7% และเม็กซิโก ขยายตัว 1.1%
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะต่อไป ได้แก่ หลายประเทศทั่วโลกทยอยยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง, กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าในกลุ่มตะวันออกกลางมีการเติบโตตามรายได้ของภาคพลังงาน, ผู้ผลิตในประเทศ ได้รับมอบเซมิคอนดักเตอร์เข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง, ผู้นำเข้าแสวงหาวัตถุดิบทดแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิต, เงินบาทที่อ่อนค่า และมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยจะต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อทดแทนในตลาดเดิมที่การส่งออกลดลง เช่น ตลาด
ส่วนแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือ 2 เดือนของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า การส่งออกไทยในช่วงจากนี้ไป จะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ไปจนถึงปี 66
"ไม่ได้หมายความว่า ภาคการส่งออกจะไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญได้ การส่งออกยังสำคัญอยู่ และไม่ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ จะเป็นบวกหรือลบ แต่ในภาพรวมทั้งปีเชื่อว่ายังเป็นบวกได้อยู่ ซึ่งจากที่ประเมินร่วมกับภาคเอกชน ยังสามารถโตได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ 4% โดยอาจจะโตได้เกือบเท่าตัว ส่วนเป้าส่งออกปี 66 ยังไม่ขอประเมิน ขอดูฐานการส่งออกของปีนี้ก่อน" นายจุรินทร์ ระบุ