นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงาน ปี 2566 ภายใต้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ บสย. ตามแผนวิสาหกิจ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ
1.Credit Accelerator : การขยายปริมาณการค้ำประกันสินเชื่อ โดยสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
2.SMEs Growth Companion การพัฒนาองค์ความรู้และโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs และรายย่อย
3.Digital Transformation & Financial Gateway : นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาพัฒนาการดำเนินงานและการให้บริการ
4.Debt Management : การเพิ่มบทบาทการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการหนี้ให้มีประสิทธิภาพ
5.Sustainable Organization : สร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องตามมาตรฐานสากล
6.ยุทธศาสตร์สนับสนุน ที่สนับสนุนทุกสายงานเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย
นายสิทธิกร กล่าวว่า ในปี 2566 บสย. มีแผนเปิดตัวนวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อรองรับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model (Bio Economy - Circular Economy - Green Economy) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่นำแนวคิดมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และนำกลับมาใช้ประโยชน์ สร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อลดผลกระทบต่อโลก มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ การดำเนินยุทธศาสตร์ Digital Transformation & Financial Gateway ที่ได้ประกาศไว้เมื่อต้นปี 2565 บสย. มีความคืบหน้าเป็นลำดับ อาทิ การนำดิจิทัลเทคโนโลยี มาร่วมพัฒนาการดำเนินงานและการให้บริการ ได้แก่ การพัฒนาช่องทางการบริการบนออนไลน์ ผ่าน Line TCG First พร้อมเมนูต่างๆ ให้เลือก เช่น บริการตรวจสุขภาพทางการเงิน บริการให้คำปรึกษาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และแก้หนี้ โดยลูกค้า บสย. สามารถลงทะเบียนมาตรการแก้หนี้ บสย. ผ่าน Line TCG First กับ บสย. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ยังได้พัฒนาระบบการให้บริการลูกค้าผ่าน Digital Platform ร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อยกระดับการให้บริการด้านสินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อด้วย คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 มีจำนวนสมาชิก Line TCG First กว่า 20,000 ราย
สำหรับผลดำเนินงาน บสย. ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (1 ม.ค. - 31 ต.ค. 65) ได้ให้ความช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อต่อเนื่อง อนุมัติค้ำประกัน จำนวน 128,581 ล้านบาท ได้สินเชื่อจำนวน 78,510 ราย อนุมัติหนังสือค้ำประกัน (LG) 82,461 ฉบับ ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 140,958 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 893,073 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 531,039 ล้านบาท โดยมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อรองรับ ได้แก่
1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs (PGS 9) วงเงิน 65,985 ล้านบาท สัดส่วน 51% (เฉลี่ย 3.93 ล้านบาทต่อ LG) วงเงินคงเหลือรองรับ 1,100 ล้านบาท และสิ้นสุดโครงการ 30 พ.ย. 2565
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.ฟื้นฟู ระยะ 2 (สินเชื่อเพื่อการปรับตัว) วงเงิน 48,076 ล้านบาท สัดส่วน 37% (เฉลี่ย 3.50 ล้านบาทต่อ LG)
3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Commercial และ Re-new วงเงิน 9,202 ล้านบาท สัดส่วน 7%
4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Micro ต้องชนะ (Micro 4) สัดส่วน 4% วงเงิน 4,473 ล้านบาท (เฉลี่ย 90,000 บาท ต่อ LG)
5.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra วงเงิน 845 ล้านบาท สัดส่วน 1%
"กลุ่มธุรกิจที่ บสย. ค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ครองสัดส่วนค้ำประกัน 50% ของยอดค้ำรวม ได้แก่ ภาคบริการ 28% ภาคเกษตรกรรม 11% ภาคการผลิตสินค้าและการค้า 11% โดยในภาคการเกษตรมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่น ไต่ระดับจากอันดับ 6 ในปี 2563 สู่อันดับ 2 ในปี 2565 คาดว่าผลดำเนินงานสิ้นปี 2565 จะมียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อรวมกว่า 140,000 ล้านบาท" นายสิทธิกร ระบุ
ด้านการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. ได้ดำเนินการสอดรับนโยบายรัฐบาล ปีแห่งการแก้หนี้ "แก้หนี้ยั่งยืน" ช่วยลูกหนี้หลุดพ้นกับดักหนี้ แก้ไขหนี้ ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ "บสย. พร้อมช่วย" ผ่อนน้อย เบาแรง หรือ "มาตรการ 3 สี" ม่วง เหลือง เขียว ช่วยแก้หนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประสบความสำเร็จเกินคาด เพิ่มขึ้นกว่า 80% มีลูกหนี้ บสย. ลงทะเบียน 9,809 ราย ได้รับการประนอมหนี้ 4,785 ราย สัดส่วน 49% หรือราว 2,058 ล้านบาท คาดว่า ณ สิ้นปี จะช่วยลูกหนี้ได้กว่า 7,000 ราย
"มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว แก้หนี้ ลูกค้า บสย. เป็นมาตรการที่โดดเด่นในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้กลุ่มไมโคร โดยมาตรการ "สีเขียว" ได้รับความนิยมมากที่สุด 79% ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาผ่อนนาน 7 ปี ตัดเงินต้นทั้งจำนวน โดยชำระครั้งแรกเพียง 10% วงเงินหนี้ ต่อราย 100,000 บาท" นายสิทธิกร กล่าว
ด้านการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งเป็นบริการให้คำปรึกษาฟรี โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม มีผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา ขอสินเชื่อสูงสุด 1,454 ราย ปรึกษาปรับโครงสร้างหนี้ มากกว่า 515 ราย และพัฒนาธุรกิจ 337 ราย รวมสินเชื่อที่ต้องการกว่า 12,000 ล้านบาท