สหรัฐบีบไทยเร่งแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด่วนก่อนสรุปปลายเม.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 7, 2008 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สหรัฐฯบีบไทยเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด่วนก่อนสรุปปรับไทยอยู่ในประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากสุดช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ ชี้ไทยต้องแก้ไขใน 6 ประเด็นหลัก 
นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่าจากการที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ( USTR) ได้เสนอรายงานประจำปี 51 ต่อรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยขึ้นมา และจะนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลในการจัดอันดับประเทศคู่ค้าที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ ตามกฎหมายการค้าสหรัฐมาตรา 301 พิเศษ ซึ่งจะประกาศผลในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันว่า ประเทศไทยได้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามพันธกรณีความทุกประการ
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้ปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง และเฉียบขาด ซึ่งได้มีการประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมศุลกากร เพื่อตั้งคณะทำงานระดับชาติมาทำหน้าที่ปราบปรามสินค้าละเมิดอย่างเป็นรูปธรรม และเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดส่งสรุปข้อมูลการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้กับสหรัฐ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดอันดับประเทศไทยตามมาตรา 301 ซึ่งจะมีการประกาศผลในวันที่ 30 เม.ย.ที่จะถึงนี้
นางพวงรัตน์ กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในห้างสรรพสินค้า โดยที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการลงนามความตกลง (MOU) กับ ห้างสรรพสินค้าจำนวน 10 แห่ง หากห้างใดถ้าตำรวจจับได้ว่าผู้ขายสินค้าห้างนั้นๆ ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ทางตำรวจจะแจ้งให้เจ้าของห้างสรรพสินค้านั้นๆ รับทราบ และถ้ายังฝ่าฝืนอยู่และจับได้เป็นครั้งที่ 2 ห้างต้องยกเลิกสัญญาเช่ากับร้านค้าทันที ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากห้าง
ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือนั้นในประเทศไทยได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องและจะร่วมมือกับดีเอสไอ กรมศุลกากร ในการสืบหาแหล่งผลิตเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ สหรัฐต้องการเห็นการทำงานของไทยต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่1. แม้ว่าไทยจะกำลังเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร แต่ไทยไม่มีการคุ้มครองข้อมูลการทดลองยา และไม่มีการเชื่อมโยงระบบสิทธิบัตรยากับข้อมูลการทดลองยา ทำให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาสำหรับยาสามัญโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในขณะที่ยาต้นแบบยังอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร และการตรวจสอบสิทธิบัตรของไทยใช้ระยะเวลานาน
2. ไทยมีสิทธิทำซีแอลได้แต่กระบวนการขาดความโปร่งใส และไทยควรตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อการพัฒนายาชนิดใหม่ด้วย
3. ไทยมีการละเมิดหนังสือในปริมาณมากทำให้เอกชนสหรัฐ สูญเสียรายได้ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา 4. กฎหมายควบคุมการผลิตซีดีของไทยไม่ให้อำนาจการควบคุมที่เพียงพอ อีกทั้งบทลงโทษไม่รุนแรง
5. ในการพิจารณาคดีของศาลไทยเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่รุนแรง ไม่ทำให้ผู้กระทำผิดหลาบจำ อีกทั้งยังมีความยากลำบากในการขอออกหมายค้น และเกิดปัญหาของกลางในคดีหายอีกด้วย
และ 6. สหรัฐเห็นว่าไทยควรแก้ไขปัญหาการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในห้างสรรพสินค้า นอกเหนือจากการบังคับใช้ MOU ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าของห้างสรรพสินค้าอย่างเข้มงวด ซึ่ง USTR เห็นว่าไทยควรกำหนดให้เจ้าของห้างสรรพสินค้าต้องรับผิดในกรณีที่มีการขายของละเมิดภายในห้างด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ