ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า ปัจจุบันเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultured meat) ได้รับความสนใจมากขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ได้ปลุกความกังวลในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้อุตสาหกรรมอาหารให้ความสนใจกับอาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นแนวโน้มประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า การผลิตอาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่เทคโนโลยีด้าน FoodTech ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดหลายรายมีความพยายามจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
- ชวนทำความรู้จัก Cultured meat
Cultured meat คือ เนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเซลล์สัตว์ในห้องทดลอง ทั้งนี้ Cultured meat ถือว่าเป็นอาหารใหม่ (Novel Foods) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Sub Sector ที่น่าสนใจของกลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Future Foods) โดยการผลิต Cultured Meat เป็นกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า สเต็มเซลล์
ในขั้นตอนแรกจะเก็บเซลล์จากสัตว์ที่ยังมีชีวิต ได้แก่ เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมัน หลังจากนั้นจะนำเซลล์ที่เก็บได้จากชิ้นเนื้อนั้นๆ นำมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง โดยระหว่างกระบวนการผลิตจะมีการให้สารอาหารหล่อเลี้ยงเซลล์ ได้แก่ โปรตีน วิตามิน น้ำตาล และฮอร์โมน เพื่อให้ชิ้นเนื้อส่วนนั้นๆ มีการเจริญเติบโต โดยในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการทั้งในต่างประเทศ และผู้ประกอบการไทยเริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น
- Cultured Meat จะเป็นแหล่งโปรตีนใหม่ของโลกอนาคตได้อย่างไร?
1. Culture Meat ใช้ระยะเวลาเพาะเลี้ยงน้อยกว่าสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ โดย Cultured Meat ใช้เวลาในเพาะเลี้ยงเพียง 5-7 สัปดาห์ ขณะที่การเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อวัว ใช้เวลาในการเลี้ยงนานถึง 112 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยเข้ามาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร
จากรายงานของสหประชาติ (United Nations) คาดว่าในปี 93 จำนวนประชากรของโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9,000 ล้านคน และทำให้ความต้องการการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 280 ล้านตันในปัจจุบัน เป็น 570 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์ในโลกที่ผลิตได้ อาจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชากรโลก ส่งผลให้ประชากรบางส่วนของโลกประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหารสำหรับการบริโภค ดังจะเห็นได้จากรายงานของ FAO (Foods and Organization) ที่คาดว่าในปี 73 โลกจะมีประชากร 840 ล้านคน ประสบกับปัญหาความอดอยาก
2. Cultured Meat เป็นสินค้าตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยจากงานวิจัยไม่ว่าจะเป็นรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) หรือสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (Environmental Protection Agency) ชี้ว่า กระบวนการในการทำฟาร์มปศุสัตว์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ส่วนกระบวนการผลิต Cultured Meat นั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรอาหารและน้ำ พื้นที่เลี้ยง นอกจากนี้ ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) น้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ประเภทอื่น 5-20 เท่า และยังเป็นสินค้าที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ เนื่องจากช่วยลดการฆ่าและทรมานสัตว์อีกด้วย
3. เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน Cultured Meat ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จะเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตของธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของ Financial Times ที่อ้างอิงข้อมูลจาก Pitch Book ระบุว่า การลงทุนจากธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ในกลุ่ม Start up ที่เกี่ยวกับ Cultured Meat เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 64 มีเงินลงทุนคิดเป็นมูลค่าถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นจากปี 63 ซึ่งอยู่ที่เพียง 410 ล้านดอลลาร์สรอ. หรือเพิ่มขึ้น 339.0% YoY นอกจากนี้ ต้นทุนในการผลิต Cultured Meat ยังถูกกว่าแต่ก่อนมาก
4. Cultured Meat ช่วยลดความกังวลจากโรคระบาดในสัตว์ เนื่องจากมีระบบการผลิตเป็นระดับเดียวกับที่ใช้ผลิตยารักษาโรค ทำให้มีความสะอาดปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมี หรือเชื้อโรคต่างๆ โดยนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคมีความกังวลด้านสุขภาพมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงความกังวลจากการติดต่อของเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน โดยปัจจุบันมีโรคในสัตว์ที่สามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น โรควัวบ้า โรคไข้หวัดนก ซึ่งเกิดจากการที่คนรับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ
5. พฤติกรรมผู้บริโภคสนใจบริโภค Cultured Meat มากขึ้น โดยจากข้อมูล Frontiers in Sustainable Food Systems (2562) ชี้ว่า 56% ของผู้บริโภคชาวอินเดียสนใจที่จะซื้อ Cultured Meat ขณะที่ข้อมูลของ GFI Europe ระบุว่า 65% 57% และ 55% ของผู้บริโภคชาวสเปน ชาวเยอรมัน และชาวอิตาเลียน ตามลำดับ ตั้งใจที่จะซื้อ Cultured Meat หากมีวางจำหน่าย ซึ่งจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่กล่าวมาข้างต้น จึงคาดว่ามูลค่าตลาด Cultured meat จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต
- มูลค่าตลาด Cultured Meat ของโลกใหญ่แค่ไหน?
การผลิต Cultured Meat ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับนำร่อง (Pilot Scale) เนื่องจากในช่วงแรกต้องใช้การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง แต่อนาคตคาดว่ามูลค่าตลาดมีโอกาสที่จะแตะระดับหมื่นล้านดอลลาร์สรอ. โดยจากรายงานของ McKinsey & Company คาดว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ Cultured Meat ของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สรอ. (ประมาณ 70 หมื่นล้านบาท) ในปี 73 จากประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สรอ. (ประมาณ 35 พันล้านบาท) ในปี 68 หรือขยายตัว 82.0%CAGR
สำหรับประเทศไทย Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 73 ตลาด Cultured Meat จะอยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท หรือราว 3% ของมูลค่าตลาดเนื้อสัตว์ของไทยซึ่งจะอยู่ที่ 84.5 พันล้านบาท โดยโอกาสในการเติบโตของมูลค่า Cultured Meat ยังมีอีกมาก ทั้งจากด้านการผลิตที่ผู้ประกอบการได้เริ่มหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคที่เริ่มให้การยอมรับในผลิตภัณฑ์ Cultured Meat ที่มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งการเติบโตดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบในธุรกิจผลิตอาหาร สามารถขยายธุรกิจที่มีอยู่เดิมได้อีก นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ Cultured Meat ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคเนื้อสัตว์อีกด้วย
Krungthai COMPASS มองว่า แม้ปัจจุบันการผลิต Cultured Meat ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ Pilot Scale แต่คาดว่าในอนาคตจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และยกระดับไปสู่ Industrial Scale ได้ เนื่องจากต้นทุนที่ถูกลงกว่าแต่ก่อน อีกทั้งตลาดที่จะเติบโตได้อีกมาก ส่งผลให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมต้องพิจารณา ดังนี้
1. ผู้บริโภคบางส่วนอาจยังไม่เปิดใจยอมรับสินค้าในกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากกังวลในเรื่องความปลอดภัย รวมทั้งการดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) เห็นได้จากบทความที่ระบุว่า ผู้บริโภคบางส่วนมองว่าเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากกระบวนการผลิตไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับผู้บริโภคในประเด็นนี้ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ สินค้า Cultured Meat อาจมีวิธีการผลิตที่ขัดกับหลักศาสนาของผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น ศาสนาอิสลามที่อนุญาตให้รับประทานเนื้อสัตว์ที่มาจากการเชือดเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการอาจมีอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ของตลาดเนื้อสัตว์
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังมีข้อถกเถียงกันในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มมองว่าหากเนื้อสัตว์ที่นำมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง มีการผลิตได้ตามมาตรฐานฮาลาล ก็ไม่น่าจะขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม
2. ภาครัฐ มีกฎระเบียบด้านอาหารที่เข้มงวด จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดนี้ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย เช่น รัฐบาลสิงคโปร์ที่มีการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการผลิต Cultured Meat จนทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่มีการอนุมัติให้จำหน่าย Cultured Meat