"กรีนสแปน"ชี้ปัญหาซับไพรม์ส่งผลวิกฤติสินเชื่อเข้าขั้นรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 8, 2008 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในที่ประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมซึ่งยิงสัญญาณโดยตรงจากกรุงวอชิงตันไปยังกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นในวันนี้ว่า วิกฤตการณ์สินเชื่อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเข้าขั้นรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี และคาดว่าจะรุนแรงขึ้นอีกนับจากนี้
"วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดสินเชื่อเป็นผลพวงของการปิดบังปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่ขาดความน่าเชื่อถือ (ซับไพรม์) ซึ่งเป็นเวลานานหลายเดือนกว่าที่ความจริงในเรื่องนี้จะปรากฏให้นักลงทุนรับรู้" กรีนสแปนกล่าว
"มีคนถามผมว่าราคาสินค้าเริ่มมีเสถียรภาพแล้วหรือยัง ผมบอกได้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้ยากที่จะคาดคะเน เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในขณะนี้ ผมคาดว่าราคาสินค้าอาจมีเสถียรภาพขึ้นในช่วงต้นปี 2552 เนื่องจากจำนวนบ้านค้างสต็อคเริ่มปรับตัวลดลง" อดีตประธานเฟดกล่าว
"ส่วนในเรื่องเงินเฟ้อนั้นผมคาดว่าจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น"
กรีนสแปนซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานเฟดในปี 2549 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า นโยบายการเงินของเขาทำให้ปัญหาซับไพรม์ลุกลามเข้าไปสร้างความเสียหายจนทำให้เกิดวิกฤการณ์การเงิน โดยหนังสือ "Greenspan's Bubbles'' ซึ่งเขียนโดยวิลเลียม เฟลคเกนสเตน ระบุว่า นโยบายของกรีนสแปนมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นและราคาบ้านในสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก
การแสดงความคิดเห็นของกรีนสแปนครั้งนี้สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คนอื่นๆประเมินไว้ ซึ่งรวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยล่าสุดไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เนื่องจากทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรงที่สุดในสหรัฐ นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงค.ศ. 1930 โดยคาดว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 3.7% ในปี 2551 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนม.ค.ที่ 4.15%
นอกจากนี้ IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.5% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนม.ค.ที่ 1.5% และคาดว่าในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 0.6% สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ