นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรมช.แรงงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ยอดหนี้เสียครัวเรือนรวมพุ่งขึ้นไปแตะ 1.1 ล้านล้านบาทแล้ว ในจำนวนนี้ 40% หรือร่วม 4 แสนล้านบาท เป็นหนี้เสียจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเดือนมกราคมปีนี้ ตัวเลขหนี้เสียกลุ่มนี้ยังอยู่ที่ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเสริมเข้าไปดูแลนอกเหนือไปจากการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ต้องเติมด้วยมาตรการเพิ่มรายได้ผนวกมาตรการลดค่าครองชีพให้กลุ่มเปราะบางที่สุดกลุ่มนี้ที่มีมากกว่า 3.2 ล้านราย หากยังไม่มีมาตรการเสริมใด ตัวเลขหนี้เสียของกลุ่มนี้จะพุ่งต่อเนื่องไปอีก
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้แสดงให้เห็นหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.76% ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว (2.88%) เป็นผลมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รวม 3.88 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อ 2.98 ล้านล้านบาท และการให้สินเชื่อใหม่ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของธปท. อีก 135,805 ราย ยอดสินเชื่อ 339,036 ล้านบาท
ในส่วนกลุ่มเปราะบางที่สุด 3.2 ล้านคนที่หนี้เสียไปแล้ว เขาไม่ได้อยากจะเป็นหนี้เสีย แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้ยังไม่ฟื้นกลับมา ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอ หวังว่าจะมีการนำข้อมูลของกลุ่มเปราะบางที่สุดนี้มาวิเคราะห์ แยกกลุ่ม จัดมาตรการเฉพาะเข้าช่วยเหลือเร่งด่วน เพราะหากยังปล่อยไปเช่นนี้ ตัวเลขหนี้เสียของกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน มีแค่มาตราการปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น ไม่ต่างกับรอให้อาการป่วยหนักแล้วค่อยผ่าตัดตอนป่วยระยะสุดท้าย