นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจ และเปิดขายเอกสารเสนอโครงการจัดบริการ และเสนอราคาค่าเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถ (ตู้เสบียง) กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษชุด 115 คัน เส้นทางสายเหนือ, สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ จำนวน 8 ขบวน 4 เส้นทาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายน-17 ตุลาคม 2565 และได้กำหนดยื่นซองเอกสาร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ปรากฏว่า มีเอกชนให้ความสนใจซื้อซองเอกสารฯ 3 ราย แต่เข้ายื่นซองเสนอราคาโครงการฯ จำนวน 2 ราย ได้แก่
1.บริษัท โบกี้ เอฟบี จำกัด
2.บริษัท แอ็ดวานซ์ มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิท จำกัด
ผลปรากฏว่า บริษัท แอ็ดวานซ์ มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิท จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เช่าสิทธิจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนขบวนรถด่วนพิเศษ ชุด 115 คัน จำนวน 8 ขบวน ทั้งนี้จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป โดยมีขบวนรถด่วนพิเศษ 8 ขบวน ใน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย
สายเหนือ ขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถี ที่ 9/10 กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ
สายใต้ ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ที่ 31/32 กรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพ
สายตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานวัฒนา ที่ 23/24 กรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ, ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคา ที่ 25/26 กรุงเทพ-หนองคาย-กรุงเทพ
สำหรับการให้เช่าสิทธิจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนรถด่วนพิเศษ ชุด 115 คัน ทั้ง 8 ขบวนนั้น การรถไฟฯ มีกำหนดระยะเวลาให้เช่าสิทธิ 3 ปี เริ่มให้เช่าสิทธิตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2565 และสิ้นสุดสัญญาเช่าวันที่ 5 ธันวาคม 2568 โดยเครื่องดื่มที่จะให้บริการมีทั้งแบบร้อน และเย็น ส่วนอาหารจะบรรจุในกล่องสุญญากาศที่ได้คุณภาพ นอกจากนี้จะมีสินค้าที่เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มาให้บริการบนขบวนอีกด้วย ซึ่งอาหารทุกชนิดจะมีการแจ้งราคาบนเมนูทุกรายการ โดยราคาจะเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานราคาอาหาร และเครื่องดื่มของฝ่ายบริการโดยสาร รวมทั้งจะมีการตรวจสอบคุณภาพของอาหารก่อนให้บริการทุกครั้งด้วย
การรถไฟฯ หยุดจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนขบวนรถไฟให้แก่ผู้โดยสาร ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขบวนรถงดเดินรถ เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของภาครัฐ โดยเฉพาะการล็อกดาวน์จำกัดการเดินทาง และงดการเดินทางข้ามจังหวัด แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ เริ่มคลี่คลายลง ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆ การรถไฟฯ จึงกลับมาให้บริการอีกครั้ง คาดว่าการเปิดให้บริการครั้งนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟ สามารถซื้ออาหาร และเครื่องดื่มภายในตู้เสบียงที่สะอาด ถูกหลักอนามัย ราคาเป็นธรรม และได้รับความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการสูงสุด
อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนมกราคม 2566 การรถไฟฯ จะออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจ และเปิดขายเอกสารเสนอโครงการฯ ในกลุ่มขบวนรถด่วน และรถด่วนพิเศษ ในเส้นทางสายเหนือ และสายใต้ จำนวน 10 ขบวน ได้แก่
รถด่วนพิเศษที่ 13/14 กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ
รถด่วนที่ 51/52 กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ
รถด่วนพิเศษที่ 37/38 กรุงเทพ-สุไหงโกลก-กรุงเทพ
รถด่วนที่ 83/84 กรุงเทพ-ตรัง-กรุงเทพ
รถด่วนที่ 85/86 กรุงเทพ-นครศรีธรรมราช-กรุงเทพ
โดยคาดว่าจะได้ผู้เช่าสิทธิประมาณเดือนเมษายน 2566 จากนั้นจะเปิดให้บริการผู้โดยสารต่อไป