นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการหารือประเด็นการประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองเรื่องการค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และจบปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท
ทั้งนี้ กกร. มีความเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมามีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก ประกอบกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยคำนึงถึงการครองชีพของลูกจ้าง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า ฯลฯ
ดังนั้น การพิจารณาปรับค่าแรงจึงต้องมองในทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม จากกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันเมื่อปี 54 ที่ถึงแม้จะดำเนินการได้สำเร็จ แต่ต้องยอมรับว่าช่วงแรกโดยเฉพาะ SME ปรับตัวค่อนข้างลำบาก ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางรายก็ปรับเป็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน
ทั้งนี้ หากทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน จากปัจจุบันที่ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน หรือเพิ่มเป็นเท่าตัว ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน ขณะเดียวกันยังกระทบด้านท่องเที่ยว และด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย
ขณะเดียวกันปีหน้า SME ยังคงมีปัญหาด้านรายได้และสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งประเทศไทยยังมีหลายธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ
ดังนั้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้ SMEs หยุดหรือยกเลิกกิจการเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คงต้องมีการทบทวนแผนการจ้างงาน การชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่อาจชะลอลงเพราะต้นทุนค่าแรงของไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่ง ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้ แรงงานที่มีทักษะสูงในปัจจุบัน ต่างมีค่าจ้างที่สูงและมีความเหมาะสมอยู่แล้ว จึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานที่ยังคงมีทักษะไม่สูงมากนัก และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันควบคู่ไป และควรคำนึงถึงแรงงานที่ได้รับผลประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เนื่องจากแรงงานปัจจุบันไทยอาศัยแรงงานต่างด้าวภาคการผลิตและอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ความมุ่งหวังของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อแรงงานไทยมากเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม กกร. ยังเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามภาวะของสถานการณ์เศรษฐกิจ และขึ้นอย่างมีขั้นมีตอนยังคงมีความจำเป็น หากได้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เชื่อว่าการปรับค่าแรงในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างควรมีความสอดคล้องกับการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) และการพัฒนาทักษะ (Up-skill and re-skill) ของลูกจ้าง รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความสมดุลของค่าจ้าง ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง และควรอยู่บนพื้นฐานของทักษะ องค์ความรู้ และประสิทธิภาพของแรงงาน (Pay by Skill) รวมถึงการจูงใจให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน
นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงความสามารถ ในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม เพื่อให้การเติบโตของระบบเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง ทั่วถึง และยั่งยืน เชื่อว่าการปรับค่าแรงในระดับที่เหมาะสม จะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ
"ผลสำรวจจากต่างชาติระบุว่า การที่จะให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย เรื่องค่าแรงสำคัญ คู่แข่งเราคือเวียดนามที่ค่าแรงต่ำกว่าเรา 40% คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะพูดคุยเรื่องนี้ เห็นด้วยว่าต้องมีการปรับค่าแรง แต่ก็ต้องค่อยๆ ปรับให้มีความเหมาะสมตามกลไก สถานการณ์ พื้นที่ หรือค่าครองชีพ ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงเรื่องความสามารถของแรงงานให้มีความเหมาะสมกับค่าจ้างด้วย ทั้งนี้ ไม่สามารถฟันธงตัวเลขได้ว่าจะปรับเท่าไร และเป็นห่วงว่าถ้าส่งสัญญาณไปทางที่ผิด หรือเกิดความเข้าใจในทางไขว้เขว ต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทยอาจต้องคิดหนัก ห่วงเรื่องนี้มากกว่า" นายสนั่น กล่าว