นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Thailand Insights 2023 : Unlocking the Future ว่า การดำเนินนโยบายเพื่อบริหารเศรษฐกิจปีหน้านั้น มองว่า นโยบายการเงินและนโยบายด้านการคลังต้องประสานกัน โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำงานอย่างใกล้ชิดและสอดประสานกัน โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ที่ยืนยันว่าจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด ขณะเดียวกัน นโยบายด้านการคลังก็จะดำเนินการอย่างพุ่งเป้ามากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และต้องทำให้เกิดความมั่นคง และมีเสถียรภาพด้านการคลังด้วย
พร้อมระบุว่า รัฐบาลมีแผนในระยะ 5 ปี ที่จะเพิ่มรายได้ต่อ GDP เป็น 16% เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง หลังจากที่สัดส่วนรายได้ต่อ GDP ได้ทยอยปรับลดลงต่ำกว่าศักยภาพของประเทศจาก 17% ในปี 56 มาอยู่ที่ 14.9% ในปี 64 โดยจะต้องปรับปรุงในหลายส่วน ทั้งการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล งบรายจ่ายประจำ และงบลงทุน โดยเฉพาะงบลงทุน ที่อาจต้องปรับปรุงอัตราส่วนเงินลงทุนต่อ GDP ประเทศ เพื่อให้มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากขึ้น โดยแนวทางหนึ่ง คือการกระจายการลงทุนไปยังภาคเอกชนให้มากขึ้น
"รัฐบาลใช้นโยบายด้านการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิดไปอย่างมาก ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ" รมว.คลัง กล่าว
ส่วนแรงงานเองก็ต้องพัฒนาและเพิ่มทักษะให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งมองว่าการเสริมทักษะด้านแรงงานถือเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต และจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันรัฐบาลยังได้ออกมาตรการเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ เพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยเสริมทักษะให้แรงงานในประเทศได้อีกทาง
รมว.คลัง ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า แต่โดยรวมเศรษฐกิจไทยก็ยังฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี โดยในไตรมาส 3/65 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงถึง 4.5% หลัก ๆ เป็นผลมาจากการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้น
"การท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยคาดว่าภายในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ จะได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยแตะ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย โดยคิดเป็น 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าตัวเลข 10 ล้านคนจะยังไม่ถือว่าเยอะมาก แต่ก็มีแง่ดีคือ นักท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้มากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจก็เริ่มจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังโควิด-19 เช่นกัน" รมว.คลัง ระบุ
ส่วนภาพรวมการลงทุน ถือว่าขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทต่างชาติประกาศแผนการลงทุนในไทยเพิ่มเติม ซึ่งปัจจัยเสริมต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ที่มองว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนปี 66 การเติบโตจะเร่งตัวมากขึ้นและเติบโตอย่างมั่นคง ขณะที่กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% ส่วนปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% โดยสถานะทางการคลังยังคงแข็งแกร่ง
รมว.คลัง กล่าวถึงการส่งออกที่เริ่มเห็นแนวโน้มชะลอตัวว่า ต้องติดตามยอดส่งออกในเดือน พ.ย.-ธ.ค.65 ด้วย เพราะอาจจะยังมีออเดอร์ส่งออกที่ยังรอดำเนินการอยู่ รวมทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจที่มีแนวโน้มกำลังซื้อชะลอตัวลง ว่าจะมีผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ ภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจที่เศรษฐกิจถดถอย อันเป็นผลมาจากการใช้นโยบายการเงิน ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อสูง หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนจากการระบาดของโรคโควิด-19
ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือ และลดภาระให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย และกลุ่มเอสเอ็มอี จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้า และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ผ่านนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้ามากขึ้น เช่น การอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม และราคาพลังงานต่าง ๆ การลดภาระค่าน้ำประปา-ค่าไฟฟ้า เป็นต้น และการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการหาแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน และการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ควบคู่กันไป