น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ติตตามข้อมูลภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มที่ต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ให้เพิ่มความเข้มงวดกับประเด็นเรื่องความปลอดภัย ทั้งในสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยว การเดินทางทั้งทางอากาศ ทางถนน ทางเรือ ตลอดจนความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยจากโรคระบาด และบริการอาหารที่สะอาด
ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า ณ สิ้นเดือนพ.ย. 65 หรือ 11 เดือนแรกของปีนี้ มีต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 9.09 ล้านคน เฉพาะเดือนพ.ย. เดือนเดียว 1.73 ล้านคน ทำให้รัฐบาลมั่นใจว่า ตลอดทั้งปี 65 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทยทะลุเป้าหมาย 10 ล้านคนแน่นอน
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เพิ่มความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นที่ขณะนี้ต่างชาติได้เลือกไทยเป็นจุดหลายปลายทางแรกๆ ที่เดินทางไปเยือนหลังการคลี่คลายของโควิด-19
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จากข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ขณะนี้สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงเมืองสำคัญของไทยยังคงติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ
ล่าสุด สำนักข่าว CNBC ได้รายงานผลการสำรวจของ InterNations ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติที่มีสมาชิกทั่วโลกกว่า 4.5 ล้านคน ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับเมืองที่น่าอยู่และน่าทำงานที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจ 12,000 คน พบว่า กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยติดอันดับที่ 6
"10 เมืองทั่วโลกที่นักท่องเที่ยวเห็นว่าน่าอยู่และน่าทำงานที่สุดตามลำดับ ดังนี้ 1. เมืองบาเลนเซีย, สเปน 2. ดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3. เม็กซิโก ซิตี้, เม็กซิโก 4. ลิสบอน, โปรตุเกส 5. มาดริด, สเปน 6. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย 7. บาเซิล, สวิตเซอร์แลนด์ 8. เมลเบิร์น, ออสเตรเลีย 9. อาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ 10. สิงคโปร์" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
สำหรับผลสำรวจของชาวต่างชาติที่มีต่อกรุงเทพฯ พบว่า 82% มีความสุขต่อคุณภาพการดูแลรักษาทางการแพทย์, 79% มีความสุขกับชีวิตโดยทั่วไป, 69% มีความสุขต่อค่าครองชีพ, 68% มีความสุขต่อความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต, 66% มีความสุขต่ออาชีพการทำงาน และ 54% ระบุว่าสามารถพบเพื่อนใหม่ได้ง่าย