ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ย.ฟื้น 6 เดือนติด สูงสุดรอบ 20 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 8, 2022 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ย.ฟื้น 6 เดือนติด สูงสุดรอบ 20 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย.65 อยู่ที่ 47.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือนนับตั้งแต่เดือนเม.ย.64

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 42.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 45.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 56.4

โดยปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น มาจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผย GDP ไตรมาส 3/65 ขยายตัวได้ 4.5% พร้อมทั้งคาดการณ์ GDP ทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ 3.2% ขณะที่คาดว่าปี 66 GDP จะขยายตัวได้ 3-4% เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ย.ฟื้น 6 เดือนติด สูงสุดรอบ 20 เดือน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากระดับราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น, เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน และเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้ดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 เหลือโต 3.2% จากเดิมคาดโต 3.3% และปี 66 เหลือโต 3.7% จากคาดโต 3.8%, การส่งออกของไทยในเดือนต.ค. ลดลง 4.41%, ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น, ปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร และความกังวลกับการระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่

"ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกัน 6 เดือน และเดือนพ.ย.นี้ยังสูงสุดในรอบ 20 เดือน ซึ่งดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด และน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นต่อเนื่องอีกในเดือนธ.ค. และม.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้น จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามามากขึ้น ทำให้มีรายได้เข้าประเทศ นอกจากนี้ สินค้าเกษตรหลายรายการมีราคาดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ยังคงมีอยู่ รวมทั้งราคาน้ำมันไม่กดดันมาก ทำให้ประชาชนพร้อมจับจ่ายใช้สอย พร้อมออกไปท่องเที่ยว โดยภาพรวมเศรษฐกิจปกคลุมในเชิงบวก คาดว่าต่อไป น่าจะปรับตัวได้เด่นชัดมากกว่านี้" นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และเริ่มมองว่าสามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดได้ จึงทำให้เริ่มที่จะกล้าจับจ่ายใช้สอย ซื้อรถยนต์ ซื้อบ้าน และพร้อมออกไปเดินทางท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ จะมีเงินสะพัดราว 1 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่จะมีเงินสะพัดราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท

โดยเบื้องต้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ยังคาดการณ์ว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.2-3.3% ขณะที่การส่งออกขยายตัว 7.1-7.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 6.0-6.1% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ 10 ล้านคน ส่วนปี 66 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5-4% การส่งออกขยายตัว 2-3% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20-22 ล้านคน อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย จะมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจสำหรับปี 65 และ 66 อีกครั้งในการแถลงข่าวสัปดาห์หน้า

นายธนวรรธน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 66 มีหลายปัจจัยสำคัญที่ท้าทาย โดยเฉพาะจากที่หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และกระทบมาถึงภาคการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน ต้องจับตานโยบาย Zero Covid ของประเทศจีนว่าจะเริ่มผ่อนคลายได้มากน้อยเพียงใด เพราะหากจีนคลายล็อกหรือเปิดประเทศมากขึ้น ก็จะช่วยในเรื่องการท่องเที่ยวที่จะมีชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น

"ถ้าเศรษฐกิจจีนฟื้น เศรษฐกิจในอาเซียน และในเอเชียก็จะฟื้นตัวได้ดี ไม่ซึมตัวหรือทรุดตัวลงมาก และหากจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิด ซึ่งเราหวังว่าหลังตรุษจีน อาจจะเปิดประเทศมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า หรือราวไตรมาส 3 นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามา 4-5 ล้านคน" นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ ยังประเมินว่าการเลือกตั้งใหญ่ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้านั้น จะทำให้เกิดเม็ดเงินที่ใช้สำหรับกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้งในภาพรวมแล้วราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะกระจายลงไปในระดับภูมิภาค เกิดการจ้างงาน จ้างผลิตสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเม็ดเงิน 4 หมื่นล้านบาทนี้ จะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกรวมแล้ว 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลช่วยกระตุ้น GDP ปี 66 ให้เพิ่มขึ้นอีก 0.4-0.6% จากฐานที่ตั้งไว้

"เม็ดเงินที่หมุนเวียนในช่วงการเลือกตั้ง คาดว่าจะอยู่ที่ 4 หมื่นล้าน เป็นทั้งเม็ดเงินที่มองเห็น และมองไม่เห็น ซึ่งจะไปช่วยกระตุกเศรษฐกิจตั้งแต่ผู้ที่มีรายได้ปานกลางไปถึงฐานราก ตั้งแต่การจ้างคนงาน การทำสิ่งพิมพ์ต่างๆ จ้างรถหาเสียง เม็ดเงินเหล่านี้จะหมุนเร็วมาก และมีโอกาสจะสะพัดไปได้ถึง 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งบรรยากาศการเลือกตั้งในช่วงไตรมาส 2 จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ การใช้จ่ายประชาชนจะคล่องตัว แต่หลังจากเลือกตั้งแล้ว ก็คงต้องดูว่าใครจะได้มาเป็นรัฐบาล เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ และการตัดสินใจเข้ามาลงทุน" นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรน์ ยังให้ความเห็นถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ที่พรรคการเมืองจะนำมาใช้หาเสียงว่า การกำหนดเป้าหมายค่าแรงดังกล่าว มองว่าเป็นภาระหนักสำหรับภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะแม้จะเป็นการทยอยปรับขึ้นภายใน 4 ปี หรือปี 2570 ก็จะเป็นการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นถึง 40% หรือเฉลี่ยปีละ 10% ดังนั้น อยากจะให้มองเป้าหมายเรื่องการทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีก่อน เพราะเมื่อเศรษฐกิจในประเทศดีแล้ว เชื่อว่าภาคเอกชนก็จะมีความพร้อมในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ