นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนพ.ย. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 23-30 พ.ย. 65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 43.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 43.1 ในเดือนต.ค. 65 ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เกือบทุกภาค ต่างมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วง High Season ส่งผลดีต่อการลงทุนขยายกิจการของผู้ประกอบธุรกิจภาคบริการ เช่น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 43.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 42.1
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 44.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 44.0
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 46.5
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 43.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 42.9
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 43.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 42.6
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 42.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 41.4
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในมุมมองของภาคธุรกิจ มีความเป็นห่วงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในปี 66 ตลอดจนมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศจีน สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่นิ่ง และการส่งออกของไทยที่อาจจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ อาจจะทำให้ภาคเอกชนมองภาพเศรษฐกิจในอนาคตยังไม่ค่อยสดใสนัก ในขณะที่เศรษฐกิจปัจจุบันอาจจะย่อตัวลงบ้างจากภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัด ซึ่งเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ที่ส่งผลให้อำนาจซื้อของประชาชนอาจจะลดลงบ้าง ในขณะที่ค่าครองชีพโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งยังทำให้ประชาชนใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงปลายปี จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาช่วยสร้างรายได้ให้มากขึ้นนั้น จะทำให้กำลังซื้อของประชาชนดีขึ้น และส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
"การที่ประชาชนยังลังเลที่จะจับจ่ายใช้สอย อาจเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว เพราะมองแนวโน้มในเดือนธ.ค. สถานการณ์น่าจะดีขึ้นจากที่จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ และกำลังซื้อให้ดีขึ้น" นายธนวรรธน์ ระบุ
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน พ.ย. 65 มีดังนี้
- ปัจจัยบวก ได้แก่
1. คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน
2. SET Index เดือน พ.ย. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.25 จุด จาก 1,608.76 ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 เป็น 1,635.36 ณ สิ้นเดือน พ.ย. 65
3. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 65 ขยายตัว 4.5% เทียบกับไตรมาส 2 ที่โต 2.5% พร้อมทั้งปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจในปี 65 จะเติบโต 3.2% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 2.7-3.2%
4. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 0.06 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 34.94 บาทต่อลิตร
5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น
- ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ความกังวลของราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตของธุรกิจ
2. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 1.25% ต่อปี และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ในปี 65 จะขยายตัว 3.2% ลดลงเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ 3.3% ปี 66 ขยายตัว 3.7% ลดลงจาก 3.8%
3. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 37.920 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 เป็น 36.427 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 65
4. สถานการณ์ข่าวที่ออกมาว่า "สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปี 66" ทำให้ไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทย
5. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ
6. การส่งออกของไทยเดือน ต.ค. 65 ลดลง 4.41% มูลค่าอยู่ที่ 21,772.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าลดลง 2.07% มีมูลค่าอยู่ที่ 22,368.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 15,581.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
7. ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และรวมถึงผลผลิตทางการเกษตร
8. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงจีนกับไต้หวัน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจยังเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- แนวทางควบคุมต้นทุนปัจจัยการผลิตของธุรกิจ รวมถึงเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้เอื้อต่อธุรกิจส่งออกนำเข้า
- ส่งเสริมกระตุ้นการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ
- เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติของสถานการณ์น้ำท่วมขัง และน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัด
- ส่งเสริมกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่ายภายในประเทศ
- มาตรการรับมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง