นักวิชาการจี้รัฐเร่งผลักดันเมกะโปรเจคท์ใน 3 เดือน หวั่นปัญหาการเมืองทำบานปลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 8, 2008 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิชาการจี้ภาครัฐเป็นผู้นำการลงทุน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจคท์ เพื่อทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่าจะใช้นโยบายการลดดอกเบี้ย พร้อมแนะควรเร่งให้เกิดการลงทุนภายใน 3 เดือน หวั่นสถานการณ์การเมืองอาจสร้างปัญหาได้
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า รัฐบาลควรจะเร่งการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคท์ เพื่อผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าการใช้นโยบายการลดดอกเบี้ยของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นตัวผลักดัน เนื่องจากหากรัฐบาลไม่รีบจะกระทบการลงทุนทั้งของภาคเอกชน ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ถือเป็นตัวแปรในขณะนี้ เพราะใน 3 เดือนข้างหน้าอาจจะเกิดการเผชิญหน้าทางการเมือง และหากไม่เร่งรีบผลักดัน ก็อาจจะเกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยได้ นอกจากนี้นโยบายของภาครัฐที่ออกมาไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกหลัก แต่กลับเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า
"การปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. ไม่ได้เป็นเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจ สิ่งที่สำคัญตอนนี้อยู่ที่ภาครัฐ ควรที่จะเร่งการลงทุนเมกะโปรเจกท์ และควรจะเป็นผู้นำในการลงทุน เพราะจะทำให้เอกชนจะลงทุนตามได้เอง" นายสมภพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายและไม่สามารถผลักดันการลงทุนเมกะโปรเจคท์ และส่งผลกระทบโดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจชะลอ จะยิ่งทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะฉะนั้นการตั้งจีดีพี เป็นตัวเร่งที่ผิด ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ นายสมภพ กล่าวว่า หากพิจารณาถึงดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะนี้การจะปรับลดหรือไม่ คงไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้เม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะหากพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายในต่างประเทศก็มีอัตราที่สูงเช่นกัน และบางประเทศยังสูงกว่าประเทศไทย เช่น เวียดนาม ดอกเบี้ยนโยบายที่ 12% ออสเตรเลีย 7% อังกฤษ 5.5%
การที่ลดดอกเบี้ยขณะที่มีการประกาศ พ.ร.บ.เงินฝาก อาจจะเกิดปัญหาตามมา
นายสมภพ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดว่า สิ่งไหนสำคัญก่อนและหลัง แต่กลับเอาเหตุการณ์เฉพาะหน้าและแก้ปัญหารายวันแทนการแก้ปัญหารากหญ้า เช่น ปัญหาราคาข้าว ก็แก้ปัญหาเพียงแค่ออกมาตรการเพื่อควบคุมราคาเท่านั้น แต่ไม่ได้ลงลึกถึงระดับรากหญ้า
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรนำจุดเด่นของประเทศมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาคการเกษตร ควรจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร รวมทั้งปรับจากที่เคยพึ่งพาภาคผลิตมาพึ่งพาภาคบริการมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องภาคบริการ อย่างเช่น ทัวร์ Health Care กับ Food Service ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นมาก เพียงแต่ต้องใส่มูลค่าเพิ่มเข้าไป ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้เอง
"ประเทศไทยมีจุดขายที่ดีอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้นำจุดที่ดีของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคบริการ มาใช้ให้เต็มที่ เพราะสิ่งเหล่านี้หากพัฒนาก็จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตได้ดีโดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือ มาใช้ในการผลักดันการเติบโต และการที่ปรับลดดอกเบี้ย กนง.ก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถแก้ไขหรือผลักดันเศรษฐกิจได้ในระยะยาว เป็นแค่สิ่งที่ช่วยได้เฉพาะหน้าเท่านั้น ขณะเดียวกันภาคการเงินก็ควรที่จะหาแผนที่จะรองรับทั้งในเรื่องของปัญหาซับไพร์มที่อาจจะบานปลาย รวมถึงปัญหาค่าเงิน ดอลลาร์ที่อ่อนตัว หากเกิดยืดเยื้อจะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะต้องคิดและวางแผน"นายสมภพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ