เมอร์เซเดส-เบนซ์ โดดร่วมวงตลาด EV เซ็นเข้ารับมาตรการสนับสนุนสรรพสามิต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 9, 2022 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมอร์เซเดส-เบนซ์ โดดร่วมวงตลาด EV เซ็นเข้ารับมาตรการสนับสนุนสรรพสามิต

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิต ได้ลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระหว่างกรมสรรพสามิต กับผู้นำเข้ารถยนต์เพิ่มอีก 1 ราย คือ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร และลดภาษีสรรพสามิต ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่ สำหรับการนำเข้ารถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: BEV) ในปี 2565 - 2566 และผลิตรถยนต์ BEV ในปี 2565 - 2568

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จากการลงนามในครั้งนี้ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตแล้ว 12 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์ 9 ราย และรถจักรยานยนต์ 3 ราย

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์แล้ว 1 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 540 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุน 81 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการดังกล่าว ครั้งที่ 2 อีกรวม 1,297 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุน 194.55 ล้านบาท

นายเอกนิติ คาดว่าจะมียอดจองและยอดขายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่ขอรับสิทธิตามมาตรการฯ ภายในสิ้นปี 2565 รวมกันทั้งสิ้นกว่า 25,000 คัน และจะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรม/ผู้นำเข้ารถยนต์ ที่สนใจทยอยเข้าร่วมลงนามเพิ่มขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV มีราคาลดลง และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภค หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

"ส่งผลดีต่อการลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญ และได้บรรจุในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อยู่ในยุทธศาสตร์ EASE Excise ที่กรมสรรพสามิตจะดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป" อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมมาตรการสนับสนุน EV เป็นจำนวนมาก โดยล่าสุด ค่ายรถยนต์ฮอนด้า ยืนยันว่าพร้อมที่จะประกอบรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2566 และคาดว่าจะเข้ามาลงนามกับกรมฯ ในเร็ว ๆ นี้ ทำให้คาดว่าภายในปี 2566 จะมียอดจองรถ EV ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคัน ซึ่งกรมฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้กับรถยนต์ที่ส่งมอบและจดทะเบียนถูกต้องกับกรมขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ กรมสรรพากรเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอจัดสรรงบประมาณสำหรับจ่ายเงินอุดหนุนให้รถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการ ในปีงบประมาณ 2567-2568 วงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท จากจำนวนรถ EV ที่คาดว่าจะขอรับเงินอุดหนุนอีกไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นคัน จากที่ก่อนหน้านี้ ครม. ได้อนุมัติวงเงิน 3 พันล้านบาท เพื่อใช้อุดหนุนรถ EV ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งวงเงินดังกล่าวคาดว่าจะเพียงพอสำหรับดำเนินการถึงสิ้นปีงบประมาณ 2566 สำหรับรถ EV ที่ส่งมอบแล้วไม่เกิน 2 หมื่นคัน โดยมีการประเมินว่าตั้งแต่ปี 2564-2568 จะมีรถ EV ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล ราว 1 แสนคัน

ส่วนกรณีที่ประชาชนซื้อรถ EV ไปแล้วและไม่สามารถผ่อนชำระได้นั้น กรมฯ ยืนยันว่าจะไม่เรียกเงินคืนจากผู้ซื้อ เนื่องจากการให้เงินสนับสนุนเป็นการหักโดยตรงกับผู้ประกอบการ ซึ่งต่างจากโครงการรถคันแรก ที่เป็นการให้เงินชดเชยคืนให้กับผู้ซื้อรถโดยตรง ดังนั้นในกรณีของมาตรการรถ EV เมื่อได้หักไปแล้ว แม้จะนำรถไปขายต่อก็ไม่ส่งผลกระทบ เพราะเป็นเรื่องของกลไกตลาด และเป็นสิทธิ์ของคนซื้อรถมือ 2 ที่จะต้องได้รถในราคาที่หักเงินชดเชยออกไปแล้ว

นายณัฐกร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตรถ EV มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ค่ายรถยนต์บางรายได้เสนอขอปรับราคาต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยในรายที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุน ก็ต้องมาพิจารณาว่าต้นทุนที่ขอปรับเพิ่มนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ และจะกระทบสิทธิ์กับผู้ซื้อที่ต้องหักเงินชดเชย 1.5 แสนบาทต่อคันหรือไม่ อย่างไรก็ดี เชื่อว่ายังมีช่องว่างให้สามารถปรับราคาได้ เพราะกรมฯ ให้สิทธิ์รถที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งรถที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ ราคาอยู่ที่ 1 ล้านกว่าบาท ส่วนรายใหม่ที่ยื่นเข้าร่วมโครงการต้องไปพิจารณาต้นทุนให้เหมาะสม และมาเสนอโครงสร้างราคากับกรมฯ อีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ