ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (12-16 ธ.ค.) ไว้ที่ระดับ 34.50-35.30 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน และ Dot Plots ของเฟด ผลการประชุม ECB และ BOE ทิศทางเงินทุนต่างชาติ (Flow) รวมถึงท่าทีต่อมาตรการโควิดของทางการจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยอดค้าปลีก และข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนธ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือน ธ.ค.ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจเดือน พ.ย.ของจีน เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และดัชนีราคาบ้าน
เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินบาทพลิกจากระดับที่แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือนที่ 34.58 บาท/ดอลลาร์ มาทยอยอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ประกอบกับสกุลเงินเอเชียหลายสกุลเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า (แม้จะมีข่าวที่ทางการจีนเตรียมจะผ่อนคลายมาตรการโควิด) จากความกังวลต่อสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกแข็งค่าหลุดแนว 35.00 บาท/ดอลลาร์อีกครั้งตามแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังมีปัจจัยลบจากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอ (จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนที่ 1.67 ล้านราย) ยิ่งหนุนความเป็นไปได้ที่เฟดจะเริ่มชะลอแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC วันที่ 13-14 ธ.ค. อย่างไรก็ดีกรอบแข็งค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนเข้าช่วงหยุดยาวของตลาดในประเทศ
ในวันศุกร์ที่ 9 ธ.ค.65 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.79 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับ 34.77 บาท/ดอลลาร์ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ธ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-9 ธ.ค.65 นั้น แม้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,148 ล้านบาท แต่ก็มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยถึง 14,149 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 17,565 ล้านบาท หักตราสารหนี้ที่หมดอายุ 3,416 ล้านบาท)