สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย.65 อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ต.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.1 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติ ส่งผลดีต่อการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ
"ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวทำให้ปีนี้มียอดนักท่องเที่ยวครบ 10 ล้านคนไปแล้ว รวมทั้งปีน่าจะเป็น 11 ล้านคน และในปีหน้าคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 21 ล้านคน" นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
ขณะเดียวกัน ภาคการก่อสร้างมีทิศทางที่ดีขึ้นภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ส่งผลให้ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาการขาดแคลนชิปมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อการผลิตสินค้ายานยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงจากอุปสงค์ต่างประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งจีนยังคงมาตรการ Zero-COVID อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกลดลง ทำให้ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.0 ปรับตัวลดลงจาก 98.8 ในเดือน ต.ค.65
โดย ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่
1.มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการ เช่น ชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าให้ไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย เป็นต้น
2.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน เพื่อลดค่าไฟฟ้าในช่วง On Peak อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการติดตั้งโซล่าเซลล์, ปรับปรุงกฎหมายให้โรงงานสามารถติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 MW โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4, มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
3.ออกมาตรการส่งเสริม Soft power เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีการใช้สินค้าและบริการของไทย เพื่อช่วยขยายโอกาสสินค้าไทยในตลาดโลกผ่านการท่องเที่ยว โดยคาดว่าช่วง High Season จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคนต่อเดือน และในปี 2566 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตมาอยู่ในระดับ 21 ล้านคน