นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ติดตามสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า โดยทำหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงานไปแล้วในช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย.65 ทั้งแนวทางการแก้ไขต้นทุนพลังงาน การชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ปัญหาสูตรโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติภาคอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
"เร็วๆ นี้ได้รับข่าวว่ารองนายกรัฐมนตรีได้โทรหารือกับผู้ใหญ่ของสภาอุตสาหกรรมฯ แล้ว ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารกับฝ่ายปฏิบัติมีปัญหาในการสื่อสาร หากทุกฝ่ายร่วมมือกันก็จะสามารถหาทางออกได้" นายอิศเรศ กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะค่า Ft ถึงแม้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้ง 100% เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะค่าไฟฟ้าเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่นักลงทุนใช้ในการพิจารณาตัดสินใจ ขณะที่ประเทศเวียดนามประกาศตรึงค่า Ft ไว้ที่ 2.88 บาท/หน่วย
สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากเนื่องจากใช้ปริมาณไฟฟ้าสูง ได้แก่ โรงหล่อ ซิเมนต์ เยื่อกระดาษ เซรามิค แก้วและกระจก ที่เหลือก็ลดหลั่นกันไป หากไม่มีการชะลอการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65 จะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนอีก 5-12%
"เรื่องนี้เรคกูเลเตอร์น่าจะพิจารณาให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ทันวันที่ 1 ม.ค.66" นายเกรียงไกร กล่าว
นายอิศเรส กล่าวว่า จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) แสดงให้เห็นว่าสาเหตุหลักที่ค่าพลังงาน และค่าไฟฟ้าของประเทศไทยสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป และยังขาดแผนสำรองที่ดีในการบริหารก๊าซในอ่าวไทย ส่งผลให้การผลิตก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยต่ำกว่าแผนมาก อีกทั้งประเทศเมียนมาลดการส่งก๊าซลง ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (Spot LNG) ที่มีราคาสูงมากเข้ามาเสริม
นอกจากนี้ จากคาดการณ์ความต้องการขาย (Demand) สูงเกินไป และการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดความต้องการซื้อ (Supply) ของโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการขาย (Demand) ถึง 52% จากปกติที่ควรจะอยู่ที่ 15% ส่งผลให้เป็นภาระต้นทุนของประเทศไทยในระยะยาว
และอีกหนึ่งสาเหตุ คือ ประเทศไทยยังขาดกลไกตลาดเสรีของพลังงานและไฟฟ้าที่ยังไม่มี Third Party Access ที่เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถใช้ระบบส่ง/จำหน่ายไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าผ่านสายส่ง/จำหน่ายของการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานได้
"ราคาพลังงานมีความผันผวน และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและครัวเรือน เป็นกลุ่มหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก" นายอิศเรศ กล่าว
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ขอให้ภาครัฐพิจารณาข้อเสนอเพื่อหาทางออกต้นทุนพลังงานสูงเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ
ประเด็นแรก ข้อเสนอทางออกค่าไฟฟ้า ขอให้ชะลอการขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ออกไปก่อน แล้วไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมแบกรับภาระที่เกิดขึ้น และปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการทำให้ราคาพลังงานถูกลง เช่น การขอใบอนุญาต รง.4 (กรณีมีการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ) การขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ในโรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการ การส่งเสริมการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้รวดเร็วและครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และการเพิ่มสัดส่วนเอทานอลด้วยน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วผสมกับเอทานอล (E20) เป็นต้น
ประเด็นที่สอง ข้อเสนอทางออกค่า NG โดยผลักดันให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นตัวกลางในการหาทางออกร่วมกันเพื่อบรรเทาภาระระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ รวมทั้งรัฐบาลควรเร่งตั้งทีมเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อนำพลังงานจากพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
นอกจากนี้ จากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ยังมีมติเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่า Ft เดือน ม.ค.-เม.ย.66 ออกไปก่อน โดยมีเหตุผลประกอบ 4 ข้อด้วยกัน คือ
ข้อแรก ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ปรับขึ้นถึง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 17% เป็น 4.72 บาท/หน่วย ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากอยู่แล้ว หากปรับขึ้นอีกในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 จะเป็นการขึ้นที่รุนแรงมากถึงสองงวดติดต่อกัน และจะส่งผลกระทบรุนแรงมากจนยากต่อการปรับตัวของทุกภาคส่วน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยเกินคาด
ข้อสอง กกพ.ประมาณการต้นทุนค่าไฟฟ้าว่าจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (ผลิตก๊าซจากอ่าวไทยได้มากขึ้น ราคา LNG ลดลงสู่ภาวะปกติ) จึงเป็นโอกาสให้ชะลอการปรับขึ้นค่า Ft ไว้ก่อน เมื่อต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงต่ำกว่าค่า Ft แล้ว จึงบริหารค่า Ft อย่างเหมาะสมเพื่อชดเชยและลดภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ในปัจจุบัน
ข้อสาม ภาระค่าไฟฟ้าส่วนที่ กฟผ. แบกรับภาระแทนไปก่อนนั้น อยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี โดยวิธีการต่างๆ เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น
ข้อสี่ ในสถานการณ์ที่ค่าไฟฟ้าสูงมาก เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่าปกติ จนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสูงถึง 30,665 ล้านบาท (งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65) และ 32,420 ล้านบาท (งวดเดือนม.ค.-เม.ย.66) จึงควรให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกันตัดทอนการลงทุนในส่วนที่เป็นเงินที่ทั้ง 3 หน่วยงานการไฟฟ้าเรียกเก็บไว้ล่วงหน้าในค่าไฟฟ้าฐานไว้แล้ว เพื่อให้ทาง กกพ. สามารถเรียกคืนเงินส่วนที่ตัดทอนได้นี้ (Claw Back) มาช่วยลดค่าไฟในช่วงวิกฤตราคาไฟฟ้านี้
กกร.ระบุว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและครัวเรือน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เนื่องจากภาคการผลิตและภาคบริการเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้