ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า แม้หลายประเทศจะทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แล้ว แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นกับช่วงเวลาการปลดล็อกการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมยังมีข้อจำกัด
ทั้งนี้ มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจโรงแรมต้องหันมาพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก จากที่เคยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคนในปี 62 ลดลงเหลือไม่ถึง 1 ล้านคนในปี 64
อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิด-19 โลกที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น แต่เนื่องจากช่วงเวลาในการผ่อนคลายมาตรการของแต่ละประเทศแตกต่างกัน จึงทำให้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวแต่ละชาติไม่เท่ากัน ประกอบกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น อย่างความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การเปิดประเทศของจีนที่ยังไม่ชัดเจน และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงอาจส่งผลให้ความรวดเร็วของการฟื้นตัวกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจโรงแรมต้องหาโอกาสสร้างรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ และนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต นักท่องเที่ยวยุโรป สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเดินทางมาไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้เดินทางออกนอกประเทศสูง และยังมีสัดส่วนการเดินทางมาไทยค่อนข้างน้อย
ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจโรงแรม ในการสร้างรายได้จากการขยายกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องศึกษาพฤติกรรม และความสนใจของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม เพื่อนำมาออกแบบการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการให้ตรงจุดมากที่สุด
นอกจากการขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่แล้ว ในระยะข้างหน้า นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่จะมีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากกว่าคนรุ่นก่อน อีกทั้งยังมีความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี และใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการวางแผนทางการตลาด และปรับกลยุทธ์ เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่นี้ด้วย
สำหรับ 4 เทรนด์หลักของการท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่ธุรกิจโรงแรมต้องปรับตัวรับมือในระยะข้างหน้า ได้แก่
1. ความทันสมัย นักท่องเที่ยวมีความคาดหวังในการได้รับบริการโรงแรมผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มศักยภาพในการบริการ และตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น
2. ความยั่งยืน กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมและดูแลสังคมถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหยิบยกเรื่องความยั่งยืนมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่พัก
3. ความอยู่ดีมีสุข การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยังได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากผู้คนทั่วโลกหันมาตื่นตัวกับการดูแลสุขภาพให้กับตัวเอง ส่งผลให้ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องทุกปี
4. ความเป็นเอกลักษณ์ โดยนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทาง ส่งผลให้การท่องเที่ยวที่มีรูปแบบเฉพาะตัวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
EIC มองว่า การก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้สอดรับอย่างรวดเร็ว ย่อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและผลักดันให้ธุรกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจโรงแรมยังมีเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างจำกัด และยังต้องรับมือกับต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงที่ยังไม่กลับมาทำงานในระบบ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการในการปรับตัว
ดังนั้น ในระยะสั้น การสร้างจุดเด่นและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงนักท่องเที่ยว ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เดินทางมาไทย และกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเดิมให้กลับมา ขณะที่ในระยะข้างหน้า ข้อมูลเชิงลึกของนักท่องเที่ยวจะช่วยให้ธุรกิจก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถปรับตัวให้สอดรับได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับการสร้างจุดเด่นให้นักท่องเที่ยวเกิดแรงจูงใจที่จะเดินทางมาไทย อาจทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอแพ็กเกจการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับธุรกิจ สอดรับกับกระแสความนิยม เช่น โรงแรมรักษ์โลก หรือโรงแรมเพื่อคนรักสุขภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ การเพิ่มช่องทางการขายให้หลากหลาย จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการรับบริการ ขณะที่ในระยะยาว หากธุรกิจมีความพร้อมในการปรับตัวตามสภาพการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนได้ทันท่วงที ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการหยุดชะงักของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
ทั้งนี้ การเข้าใจความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า จะช่วยให้ธุรกิจโรงแรมสามารถยกระดับการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายในแต่ละช่วงเวลา และสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ตรงจุด อีกทั้งยังสามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถจับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น และเตรียมปรับกลยุทธ์ให้รับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย
"โลกยุคปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นภาวะที่ธุรกิจโรงแรมต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือและปรับตัวอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งการกระจายความเสี่ยง และสร้างโอกาสท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะช่วยให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดและไปต่อได้อย่างยั่งยืน" บทวิเคราะห์ระบุ