ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสดของวันที่ 30 พ.ย. 65 ซึ่ง กนง. มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากระดับ 1.00% เป็น 1.25% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ด้านอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ตามที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ด้านระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังมีภาคธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น
"จึงเห็นว่าการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่พร้อมปรับตามแนวโน้ม และความเสี่ยงเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลง (gradual and measured policy normalization) ยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม และเห็นควรให้ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปีในการประชุมครั้งนี้" รายงาน กนง.ระบุ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปี 65 ขยายตัว 3.2% ปี 66 ขยายตัว 3.7% และปี 67 ขยายตัว 3.9% จากปัจจัยดังนี้ (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่มากขึ้น ข้อจำกัดด้านเที่ยวบินที่เริ่มคลี่คลาย และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 65 จะอยู่ที่ 10.5 ล้านคน และปี 66 จะอยู่ที่ 22 ล้านคน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ 31.5 ล้านคนในปี 67 ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย ขณะที่ประมาณการนักท่องเที่ยวจีนในปี 66 ให้ไว้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากนโยบายการเปิดประเทศของจีนยังมีความไม่แน่นอนสูง
(2) การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ และตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ที่ปรับลดลงต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดแล้ว ส่งผลให้รายได้แรงงานปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกัน แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น ยานยนต์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุตสาหกรรม แต่สินค้าบางกลุ่มยังขยายตัวได้เช่น สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร
"ในภาพรวม ภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงยังใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม" รายงาน กนง.ระบุ
ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 3/65 และจะโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี 66 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% ส่วนปี 66 อยู่ที่ 3.0% และปี 67 อยู่ที่ 2.1% อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 66 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบประมาณการครั้งก่อน จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยจะทยอยลดลงในปี 65 อยู่ที่ 2.6% ส่วนปี 66 อยู่ที่ 2.5% และปี 67 อยู่ที่ 2.0%
ส่วนในระยะข้างหน้า ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ได้แก่ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง และอาจชะลอตัวมากกว่าคาด 2. ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ 3. การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการอภิปรายในประเด็นที่สำคัญดังนี้
1. คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก มีความเสี่ยงชะลอตัวรุนแรงกว่าคาด จากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังยืดเยื้อ และการดำเนินมาตรการ Zero-COVID
2. คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามคาด และต้องติดตามแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ได้แก่ 1) การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 2) ความต่อเนื่องของแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน
3. คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 66 แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนจากการปรับราคาพลังงานในประเทศในระยะต่อไป โดยเฉพาะอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ในปี 66 ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
4. คณะกรรมการฯ แสดงความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อาจสร้างความเปราะบางต่อเศรษฐกิจ และฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว จึงเห็นว่าควรผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
"ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป" รายงาน กนง.ระบุ