นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการด้านงบประมาณ : OECD Asian Senior Budget Officials Meeting ว่า กระทรวงการคลัง ได้หารือและชี้แจงถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งหลังจากสถานการณ์ระบาดเริ่มคลี่คลาย ก็จำเป็นจะต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลลดลง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับฐานะการคลัง รวมถึงแนวทางการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ ซึ่งประเทศไทย ตั้งเป้าหมายจัดทำงบประมาณแบบสมดุลให้ได้ภายใน 10 ปี หรือภายในปีงบประมาณ 2575
รมว.คลัง กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ 21 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ พบว่าในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณสูงมากในการรับมือกับโควิด ส่วนประเทศไทยถือว่ามีการใช้งบประมาณอยู่ในระดับกลาง ๆ ซึ่งหลังจากนี้ต้องมีการปรับปรุงการใช้จ่ายงบประมาณ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการชำระหนี้
ดังนั้น การจัดทำงบประมาณหลังจากนี้ จะต้องมุ่งเน้นสิ่งสำคัญใน 3 เรื่อง คือ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องจัดงบประมาณที่ให้ความสำคัญกับโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 2. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้นในกระบวนการของภาครัฐและเอกชน 3. การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
"คลังได้ชี้แจงกับ OECD โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัวได้ 3-4% โดยคาดว่าน่าจะโตได้ 3.8% ซึ่งมาจากการลงทุนที่มีความต่อเนื่อง เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ และชดเชยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีการจัดสรรงบประมาณในโครงการลงทุนได้น้อย เพราะต้องเอางบประมาณไปดูแลการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19" นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของไทย หลัก ๆ มาจาก 3 ทาง คือ 1. การปฏิรูปการจัดเก็บภาษี 2. รายได้จากรัฐวิสาหกิจ และ 3. รายได้จากการกู้เงิน โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลังก็ได้เริ่มดำเนินการผ่านการจัดเก็บภาษี E-Service จากผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีขายหุ้น การจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดก ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เป็นฐานรายได้ใหม่ของรัฐบาล