ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวได้ 3.6% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ รองลงมา คือการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน
นายธนวรรธน์ มองว่า ไตรมาส 1/66 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตได้ 3.5% ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในไตรมาส 1/65 แต่อีกส่วนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นแรงหนุนสำคัญ ประกอบกับสินค้าเกษตรราคาขยับสูงขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้ภาคเกษตรให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บรรดาสถานบันเทิงต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการ จะทำให้มีเม็ดเงินค่อนข้างสะพัดพอสมควร จากอานิสงส์ของการท่องเที่ยวฟื้นตัว และที่สำคัญคือในไตรมาส 1/66 จะเป็นช่วงการเตรียมตัวเลือกตั้ง มีการรณรงค์หาเสียง เพื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/66
ขณะที่ไตรมาสที่ 3 และ 4 เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังจากราคาน้ำมันค่อนข้างนิ่ง เงินเฟ้อชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลง
"ช่วงครึ่งปีแรก (ปี 66) เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทย จะถูกพยุงด้วยภาคการท่องเที่ยว และภาพของการเลือกตั้ง จากนั้นไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เศรษฐกิจโลกจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว ครึ่งปีหลัง เริ่มมีการลงทุน การขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐที่จะส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC น่าจะถูกขับเคลื่อนอีกหลายโปรเจ็กท์ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากการลงทุนในอนาคต ซึ่งน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 66 ขยายตัวได้ 3.7% ส่วนครึ่งปีแรกโต 3.5% ทำให้ทั้งปีหน้า เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.6%" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 65 นี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% โดยยังมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวเช่นกัน รองลงมา เป็นการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก
"ปีนี้จะเห็นได้ว่าการส่งออก จะเปลี่ยนจากที่เป็นพระเอกมาตลอดใน 3 ไตรมาสแรก ลงมาเหลือแค่เพียงตัวประกอบในไตรมาส 4 ซึ่งการบริโภคที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างโดดเด่น จะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ส่วนปีหน้ามองว่าการท่องเที่ยว ก็จะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ
พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สำคัญในปี 66 ดังนี้ การส่งออก ขยายตัว 1.2% การนำเข้า ขยายตัว 2.2% การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 2.4% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 3.0% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 22 ล้านคน
ประมาณการดังกล่าวของปี 66 อยู่ภายใต้สมมติฐานสำคัญ คือ ปริมาณการค้าโลก ขยายตัว 2.5% เศรษฐกิจโลก ขยายตัว 2.7% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 22-24 ล้านคน อัตราแลกเปลี่ยน 35.95 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 92.50 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25-2.00%
ขณะที่ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 65 และทั้งปี 66 ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดปรับตัวดีขึ้น, นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ทำให้เห็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจน, การใช้จ่ายของภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน, รายได้ของเกษตรกรยังขยายตัวได้ดี, ความเสี่ยงด้านภัยแล้งลดลง, เม็ดเงินจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 66 มีผลช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น, ธนาคารกลางหลายประเทศ ถูกกดดันให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะถดถอย, ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน, ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก เป็นต้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในปี 66 อัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณชะลอตัวลงจากปีนี้ ทำให้แรงกดดันของเงินเฟ้อที่จะมีต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มากเท่ากับในปีนี้ โดยคาดว่าในปี 66 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีโอกาสจะแกว่งอยู่ในกรอบ 5.0-5.5% จากปัจจุบันที่ระดับ 4.50% ขณะที่เงินเฟ้อมีสัญญาณเป็นขาลง โดยคาดว่าปีหน้าเงินเฟ้อสหรัฐจะอยู่ในระดับ 4% จากปัจจุบันที่ระดับ 7% ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงกลางปี 66 จากนั้นจะตรึงไว้จนถึงปี 67
ดังนั้นเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตามสถานการณ์ของการสกัดเงินเฟ้อของสหรัฐ และเพื่อลดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐ ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 66 มีโอกาสจะขึ้นไปอยู่ในระดับ 2.00% ได้ แต่ทั้งนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะไม่สูงมากเท่ากับปีนี้ โดยคาดว่าปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงเหลือ 3% จากในปีนี้ที่ระดับ 6.1%
"เราเชื่อว่าไม่มีแรงกดดันที่ ธปท.จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรง เพราะแม้จะยังต้องขึ้นดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ แต่ก็ยังต้องใช้ดอกเบี้ยช่วยในการพยุงเศรษฐกิจ" นายธนวรรธน์ ระบุ