นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2566 ว่า กรมฯ จะเดินหน้าขับเคลื่อนงานสำคัญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเร่งผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญ ลุยตลาดต่างประเทศ คุมเข้มมาตรฐานสินค้า ผลักดันการค้าชายแดน ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย มุ่งพัฒนางานบริการเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง สร้างแต้มต่อทางการค้า เพื่อรองรับสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีรายละเอียดของแผนการดำเนินงาน ดังนี้
1. การผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญ
1) สินค้าข้าว กรมฯ จะเร่งผลักดันและจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดข้าวไทยตามนโยบาย "รัฐหนุน เอกชนนำ" ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เพื่อรักษาและขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าเดิม และแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ โดยในปี 2566 กรมฯ มีแผนจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ (Thailand Rice Convention 2023) ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการค้าข้าวโลกเดินทางมาประชุมสัมมนาวิชาการ และเจรจาธุรกิจ อีกทั้งยังมีแผนการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้าวไทย โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ อาทิ งาน BIOFACH ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี งาน GULFFOOD 2023 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งาน FOODEX 2023 ณ ประเทศญี่ปุ่น งาน China - ASEAN Expo ครั้งที่ 20 (CAEXPO) 2023 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และงาน Fine Food 2023 ณ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
2) สินค้ามันสำปะหลัง กรมฯ มีแผนขยายตลาดสินค้ามันสำปะหลังในปี 2565/66 ได้แก่ 1) ตลาดเดิม : จีน 2) ตลาดเก่า : ยุโรป และ 3) ตลาดใหม่ : ตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดีอาระเบีย ผ่านกิจกรรมในรูปแบบ Online และ Onsite รวมถึงการเชิญกลุ่มผู้นำเข้าเข้าร่วมงานมันสำปะหลังโลก ปี 2566 (World Tapioca Conference 2023) ณ จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
นอกจากนี้ กรมฯ ยังเร่งผลักดันการส่งออกพลาสติกชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูป และนวัตกรรมจากมันสำปะหลัง ไปยังต่างประเทศมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งมีสินค้านำร่อง คือ เทอร์โมพลาสติกสตาร์ช (Thermoplastic starch: TPS) และผลักดันการส่งออกแป้งฟลาวมันสำปะหลังปลอดกลูเตนไปยังตลาดที่มีศักยภาพ อาทิ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
2. การคุมเข้มมาตรฐานสินค้า กรมฯ มุ่งกำกับดูแลมาตรฐานสินค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ไทยส่งออก-นำเข้า เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าส่งออกที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลทั้ง 9 ชนิด (ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ แป้งมันสำปะหลัง ปุยนุ่น ปลาป่น และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) และกำกับดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า ซึ่งสินค้าสำคัญที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่นำเข้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และไทย-สปป.ลาว
3. การค้าชายแดน กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายที่สำคัญในการผลักดันเปิดด่านการค้าไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระตุ้นและเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไทย โดยมีแผนการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงต้นปี 2566 จะจัดคณะเจรจาผลักดันเปิดด่านชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่ยังไม่เปิดทำการ และอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าชายแดน ให้เกิดการขยายตัวทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรม และกรมฯ ยังมีแผนดำเนินงานโครงการขยายการค้าการลงทุนชายแดน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยการจัดมหกรรมการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย (ช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 66) มหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้านลาว และด้านเมียนมา/ด้านกัมพูชา
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศข้อมูลการค้าและการลงทุน (Commerce Intelligence Centre [Border and Transit Trade and SEZ]) หรือระบบ CIC BTS ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลและระบบงานสำคัญของกรมฯ ได้แก่ ข้อมูลสถิติการค้าชายแดน-ผ่านแดน และการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลการออกหนังสือสำคัญการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และข้อมูลมาตรการ NTMs ของประเทศคู่ค้าที่มีผลกระทบต่อสินค้าไทย ซึ่งกรมฯ มีแผนที่จะเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ภายในต้นปี 2566
4. การอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ และการพัฒนาระบบการให้บริการของกรมฯ โดยได้นำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในงานบริการออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยกรมฯ ได้ดำเนินโครงการ DFT SMART Certificate of Origin (C/O) เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ให้ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์หนังสือรับรองฯ ได้ด้วยตนเอง (Self-Printing) ซึ่งเป็นการให้บริการออกหนังสือรับรองฯ แบบ No Visit คาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2566 คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้กว่า 480 ล้านบาทต่อปี
และจะดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่องในระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาต่อยอดโดยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และหลักการบริหารความเสี่ยง (Risk - Based Management on Profile) เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาระบบฯ เพื่อรองรับแบบหนังสือรับรองฯ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form C/O) สำหรับทุกความตกลงทางการค้า คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนทางการค้าให้ผู้ประกอบการได้ปีละ 1,330 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้พัฒนาระบบการให้บริการการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกสินค้ามาตรฐาน การอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัท Survey) และผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (Surveyor) รวมถึงการต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถชำระเงิน และพิมพ์ใบทะเบียนและใบอนุญาต ในรูปแบบที่ผู้ขอรับบริการไม่ต้องเดินทางมาติดต่อเจ้าหน้าที่ (No Visit) และจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า (มส. 24) และการรายงานการส่งออก (มส. 25) กับกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ขอรับบริการจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566
5. ความคืบหน้าการปรับปรุงกฎหมายใหม่ๆ ของกรมฯ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น กรมฯ จึงได้ปรับปรุงและทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ อาทิ พ.ร.บ.การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. TCWMD) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. AD-CVD) เป็นต้น
6. การปกป้องและตอบโต้ทางการค้า
1) การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าที่ไทยจะหมดอายุการใช้มาตรการฯ ในปี 2566 และคาดว่าอุตสาหกรรมภายใน อาจจะยื่นขอให้เปิดทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการฯ มี 2 กรณี ได้แก่ 1) สินค้ายางในรถจักรยานยนต์จากจีน จะหมดอายุมาตรการในวันที่ 29 พ.ย. 66 และ 2) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนจากจีน จะหมดอายุมาตรการในวันที่ 12 ธ.ค. 66
ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยได้ใช้มาตรการ AD จำนวน 13 กรณี (จากทั้งหมด 24 กรณี) ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มเหล็ก ในส่วนกรณีที่ไทยถูกประเทศคู่ค้าใช้มาตรการ (1) AD 71 กรณี (2) CVD 5 กรณี (3) SG 14 กรณี
2) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) กรมฯ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการไต่สวน และการแก้ต่างด้านมาตรการ AC ได้ดำเนินการในการปกป้อง และช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกรายในการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตน โดยได้ดำเนินการ เช่น ติดตามและแจ้งข่าวสารให้ผู้ประกอบการไทยทุกรายทราบอย่างต่อเนื่อง จัดทำหนังสือคัดค้านเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย รวมไปถึงให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทยทุกรายในการดำเนินการแก้ต่างอย่างเต็มที่
7. การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมฯ เร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ภายใต้ความตกลงต่างๆ อาทิ ข้อตกลงเขตเสรีการค้า (FTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นต้น เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า และลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย
โดยในปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง FTA เป็นมูลค่า 71,882 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ RCEP คิดเป็นมูลค่า 819 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
"กรมฯ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนงานด้านการค้าต่างประเทศในทุกมิติ และพร้อมจะเป็น "พี่เลี้ยง" ที่จะคอยดูแล อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการไทย และอำนวยความสะดวกในด้านการค้าต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าฟันมรสุมทางการค้าได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในการให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบ และมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งออกสินค้าได้เต็มศักยภาพ รวมถึงมีการจัดหลักสูตรและ Workshop ในการอบรมเชิงลึกให้แก่ผู้ประกอบการไทย" นายรณรงค์กล่าว