นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบความคืบหน้าการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมยานยนต์ไทย และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ โดยให้ปี 2568 ตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้จำนวน 250,000 ต่อปี คิดเป็น 10% ของจำนวนการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ และในปี 2573 จะเพิ่มจำนวนการผลิตเป็น 750,000 คันต่อปี หรือ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด 2,500,000 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) 375,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) 375,000 คัน ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ GDP ของประเทศไทย เป็นจำนวนเงินถึง 200,000 ล้านบาท และเพิ่มอัตราการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ถึง 30,000 อัตราต่อปี
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลได้พัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือแพคเกจรถยนต์ EV มาตรการลดภาษี EV ปี 2565-2568 เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
ก่อนหน้านี้รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เคยออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2563 ได้แก่ กรณีที่มีขนาดการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม
กรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles หรือ PHEV ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
ทั้งนี้ต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น โดยทั้งหมดนี้ทำเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนใน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเภทยานยนต์ไฟฟ้าที่คนนิยมใช้ ได้แก่ Battery Electric Vehicle (BEV) ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นหลัก โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2565 มียอดการจดทะเบียนรถ BEV ประมาณ 15,423 คัน และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมียอดการใช้รถ BEV เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการที่ BOI พิจารณาการอนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้อนุมัติไปแล้ว 26 โครงการจาก 17 บริษัท
"นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอุปกรณ์ในภูมิภาค ถือเป็นโอกาสแสดงศักยภาพ และเพิ่มสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ รวมทั้งเชื่อว่าการแนวคิดด้านการผลักดันการใช้รถไฟฟ้าในประเทศ ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดมลพิษ และสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดล BCG เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่กับความยั่งยืนอย่างสมดุล" นายอนุชา กล่าว