นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้หารือเรื่องระบบการบริหารจุดตรวจปล่อย CIQ (Customs Immigration Quarantine) และการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยผ่านลาวไปยังประเทศจีนด้วยระบบขนส่งทางรถไฟ ร่วมกับ MR.LIU JINXIN ประธานสถาบันวิจัยคุนหมิง (SSILR) นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และคณะผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานด้านโลจิสติส์ร่วมกัน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เกษตรของภูมิภาคอาเซียน" ซึ่งตลอดระเวลาเวลาที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญในประเด็นการค้าและการเปิดตลาดการค้าสินค้าเกษตรกับจีนอย่างมาก เนื่องจากเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดที่ทรงอิทธิพลและมีอำนาจในการต่อรองสูง จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ซึ่งระบบโลจิสติกส์ เป็นหัวใจสำคัญของการขนส่งสินค้าเกษตร
โดยได้มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ประสานการทำงานทุกระดับ เพื่อขยายความร่วมมือและเร่งผลักดันขยายมูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรฯ ไทยไปจีน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้การสนับสนุน และยินดีในความร่วมมือกับจีนในการเดินหน้าร่วมกันผลักดันการนำเข้า-ส่งออก สินค้าเกษตรต่อไปในอนาคต
ด้านนายอลงกรณ์ กล่าวว่า การประชุมหารือร่วมกับคณะผู้ให้บริการโลจิสติกส์จีนในวันนี้ มีความเห็นพ้องต้องกันในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเพิ่มขบวนรถไฟ และการทำระบบการจองขบวนรถไฟจากจีน เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าให้มากขึ้น และต้องลดต้นทุนให้ถูกกว่าการขนส่งทางรถ 2) การพัฒนาระบบการบริหารจุดตรวจปล่อย CIQ (Customs Immigration Quarantine) จีน-ลาว โดยมีความเห็นร่วมกันว่าควรใช้โมเดลด่านตรวจพืชที่ประสบความสำเร็จ เช่น ด่านตรวจพืชลาดกระบัง เพื่อให้เป็นด่านตรวจที่เบ็ดเสร็จเกิดความรวดเร็ว และ 3) บริษัทจากประเทศจีนมีความสนใจต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรกว่า 1 แสนตัน โดยเฉพาะปลาแช่แข็ง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมด้านการประมง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่
สำหรับเส้นทางรถไฟลาว-จีน ถือเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ด้วยระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากไทยไปสู่จีน และจะขยายไปยังเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรป ถือเป็นเส้นทางโอกาสแห่งอนาคต โดยจะบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเต็มกำลัง
ทั้งนี้ คณะผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นคณะแรกจากจีนที่เดินทางมาเยือนไทย ภายหลังจากเส้นทางรถไฟ ไทย-ลาว-จีน เปิดอย่างเป็นทางการ โดยฝ่ายจีนแสดงความพอใจในการหารือร่วมกัน และพร้อมให้ความร่วมมือ โดยจะนำผลการหารือในครั้งนี้ไปรายงานต่อรัฐบาลจีนต่อไป
สำหรับระบบการบริหารจุดตรวจปล่อย CIQ (Customs Immigration Quarantine) ปัจจุบันมีพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบ สำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีน โดยมีสาระสำคัญในการระบุจุดนำเข้าและจุดส่งออกผลไม้ของแต่ละประเทศในภาคผนวก ไม่จำกัดเส้นทางในการขนส่งผลไม้ระหว่างกัน โดยปัจจุบันได้กำหนดจุดนำเข้า-ส่งออกผลไม้ ระหว่างไทยและจีนทั้งสิ้น 16 ด่าน
โดยด่านนำเข้า-ส่งออกของจีน ประกอบด้วย 1) โหย่วอี้กว่าน 2) โม่ฮาน 3) ตงซิง 4) ด่านรถไฟผิงเสียง 5) ด่านรถไฟโม่ฮาน (มีการขนผลไม้ล็อตแรก 3 ธ.ค.65) 6) เหอโข่ว (เอกชนจีนอยู่ระหว่างการเตรียมจัดซื้อและจัดการด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งผลไม้ไทย) 7) ด่านรถไฟเหอโข่ว (ยังไม่สามารถรับผลไม้จากไทย) 8) หลงปัง (ยังไม่สามารถรับผลไม้จากไทย) 9) เทียนเป่า (ยังไม่สามารถรับผลไม้จากไทย) และ 10) สุยโข่ว (ยังไม่สามารถรับผลไม้จากไทย) ส่วนด่านนำเข้า-ส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1) เชียงของ 2) มุกดาหาร 3) นครพนม 4) บ้านผักกาด 5) บึงกาฬ และ 6) หนองคาย
ส่วนความคืบหน้าการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยผ่านลาวไปจีนด้วยระบบรางเมื่อวันที่ 30 พ.ย.65 ด่านรถไฟโม่ฮานได้ถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อสถานที่ควบคุมตรวจสอบผลไม้นำเข้า (List of Designated Supervision Sites for Imported Fruits) ของ GACC แล้ว โดยในวันที่ 3 ธ.ค.65 (ครบรอบ 1 ปีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟลาว-จีน) ได้มีการขนส่งสินค้าผลไม้ผ่านทางเส้นทางรถไฟดังกล่าว โดยมีกิจกรรมพิธีต้อนรับขบวนรถไฟขนส่งผลไม้ขบวนแรกผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน เบื้องต้นแจ้งว่ามีกล้วยจากลาว 13 ตู้ และผลไม้ไทย 12 ตู้ (ลำไย 8 ตู้ ทุเรียน 4 ตู้) รวมทั้งหมด 25 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 543 ตัน แบ่งเป็น กล้วยจากลาว 351 ตัน ลำไยจากไทย 154 ตัน และทุเรียนจากไทย 38 ตัน