กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในรายงาน Global Financial Stability Report (GFSR) ว่า ยอดขาดทุนของสถาบันการเงินทั่วโลกเนื่องจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดซับไพร์มของสหรัฐนั้น อาจจะคิดเป็นวงเงินสูงถึง 9.45 แสนล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า
"ระบบการเงินทั่วโลกได้รับความเสียหายหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2549 และความเสี่ยงต่างๆที่บั่นทอนเสถียรภาพในตลาดการเงินยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วิกฤตซับไพรม์ได้ลุกลามเข้าไปสร้างความเสียหายในตลาดประเภทอื่นๆของสหรัฐแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์จนถึงตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภครายใหญ่ไปจนถึงรายเล็ก" IMF กล่าว
"สหรัฐยังคงเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการณ์เหล่านี้ ซึ่งทำให้สถาบันการเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบไปด้วย สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตลาดการเงินทั่วโลกมาถึงจุดวิกฤต ขณะที่ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงและการกำกับดูแลระบบการเงินอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด"
"ราคาบ้านในสหรัฐทรุดตัวลง ขณะที่จำนวนบ้านที่ถูกยึดพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากเจ้าของบ้านผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดปล่อยกู้จำนองของสหรัฐได้รับความเสียหายเป็นวงเงินสูงถึง 5.65 แสนล้านดอลลาร์" IMF กล่าวในรายงาน
ทั้งนี้ IMF เตือนว่า การประเมินความเสียหายของตัวเลขขาดทุนของสถาบันการเงินทั่วโลกที่ระดับ 9.45 แสนล้านดอลลาร์นั้น เป็นเพียงการประเมินคร่าวๆ และตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากยังมีสถาบันการเงินอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขขาดทุนที่แท้จริง
"ตลาดการเงินทั่วโลกยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันเนื่องจากปัจจัย 3 ประการ ประการแรกคือ งบดุลที่อ่อนแอของสถาบันการเงิน ประการที่สองคือมูลค่าทรัพย์สินทางบัญชีที่ทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และประการสุดท้ายคือภาวะเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ตกต่ำลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมาก ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของสถาบันการเงินรายใหญ่ และทำให้ความเสี่ยงในระบบพุ่งสูงขึ้นด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้ว สถาบันการเงินที่ขาดสภาพคล่องก็จำเป็นต้องดิ้นระดมทุน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการขาดทุนและการปรับลดมูลค่าทรัพย์สินทางบัญชี" IMF กล่าว
ทั้งนี้ IMF แนะนำว่า สถาบันการเงินทั่วโลกควรเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงโดยเร็ว และเจ้าหน้าที่รัฐบาลควรเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อที่จะประเมินความเสียหายได้อย่างถูกต้องและทันเวลา ก่อนที่วิกฤตการณ์การเงินจะลุกลามไปมากกว่านี้ สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--