ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 65-66 น้ำตาลทราย จะเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทย โดยไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งได้รับอานิสงส์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ยืนตัวในระดับสูง ผลผลิตน้ำตาลทรายของไทยที่กลับมาฟื้นตัว และออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดในหลายประเทศและวิกฤตอาหารทั่วโลก ที่ส่งผลให้น้ำตาลทรายยังคงเป็นที่ต้องการ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต พลังงาน และสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่า ปี 66 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย จะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 65 ที่อาจเติบโตได้ถึง 125% (โดย 10 เดือนแรกของปี 65 ขยายตัว 120.1%YoY เป็นผลจากราคา 13.2% เป็นผลจากปริมาณ 94.5% เนื่องจากฐานที่ต่ำในช่วงปี 63-64 จากผลกระทบโควิด ที่ทำให้ปริมาณผลผลิตและสต็อกน้ำตาลทรายของไทยเพียงพอกับความต้องการในตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้นสูง แต่การเติบโตของปี 66 คงอยู่ในกรอบที่จำกัด จากหลากหลายปัจจัยท้าทาย ดังนี้
1. ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ระดับราคาน้ำตาลทรายโลกปรับลดลงจากปี 65:
ผลผลิตน้ำตาลโลกปี 65/66 มีแนวโน้มขยับขึ้น โดยเฉพาะจากบราซิล ไทย และจีน จากผลผลิตอ้อยที่สูงจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งน่าจะชดเชยผลผลิตที่ลดลงของอินเดียและอียูได้ ส่งผลให้ระดับราคาน้ำตาลทรายล่วงหน้าในตลาดโลกปี 66 อาจเฉลี่ยอยู่ที่ 17.6-18.6 เซนต์ต่อปอนด์ ปรับลดลงเล็กน้อยจากปี 65 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 18.6 เซนต์ต่อปอนด์ จึงคาดว่าราคาส่งออกน้ำตาลทรายของไทยในปี 66 น่าจะมีทิศทางปรับย่อลงและสอดรับไปกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก
2. ไทยอาจได้อานิสงส์บางส่วน จากมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดีย และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในบางประเทศ แต่ยังคงเผชิญการแข่งขันที่สูงด้านราคา:
อินเดีย ผู้ผลิตน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก ขยายเวลาจำกัดการส่งออกน้ำตาลออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี (สิ้นเดือนต.ค. 66) เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำตาลทรายในประเทศจากภาวะเงินเฟ้อ อาจส่งผลเชิงบวกต่อไทยจากการหาตลาดทดแทนของคู่ค้าอินเดียที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซูดาน ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าน้ำตาลทรายจากอินเดียในสัดส่วนที่สูง นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งไทยค่อนข้างได้เปรียบด้านระยะขนส่งที่ใกล้เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
สำหรับภาพรวมการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย ก็พบว่า มีตลาดคู่ค้าใหม่หลายประเทศ ที่มีความต้องการนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ อาทิ จีน แทนซาเนีย เคนยา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย ยังเผชิญกับการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะกับคู่แข่งสำคัญอย่าง บราซิล ซึ่งมีส่วนแบ่งการส่งออกราว 21% ของการส่งออกน้ำตาลทรายทั้งหมดของโลก (ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลก)
ขณะที่การย่อตัวของราคาส่งออกน้ำตาลทรายไทยในปี 66 น่าจะอยู่ในกรอบที่จำกัด จากต้นทุนการผลิตที่ขยับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ยและสารเคมี ค่าแรงงาน ค่าพลังงานและขนส่ง ฯลฯ จึงทำให้น้ำตาลทรายส่งออกจากไทยค่อนข้างเสียเปรียบคู่แข่ง โดยเฉพาะบราซิล ซึ่งมีราคาต่อหน่วยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า อีกทั้งยังพยายามที่จะขยายตลาดน้ำตาลทรายในฝั่งเอเชียให้ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย (คู่ค้ารายสำคัญของไทย) รวมถึงจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหม่ที่ไทยกำลังเข้าไปทำตลาดด้วย
3. ข้อสรุปที่ยังไม่แน่ชัดของร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ อาจส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกน้ำตาลทรายในระยะข้างหน้า:
โดยยังต้องติดตามความชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับผลพลอยได้ของการผลิตน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้เกี่ยวข้อง ทำให้แม้การทยอยเปิดหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายในปีการผลิต 66 จะสามารถเดินหน้าได้ตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา และการส่งออกก็คงดำเนินการไปตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้เป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม การหาข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับได้สำหรับทุกฝ่าย หากลากยาวออกไป อาจเป็นความเสี่ยงสำหรับการผลิตและการส่งออกน้ำตาลทรายในปีการผลิตถัดๆ ไปได้ ดังนั้น แม้ว่าด้วยโอกาสทางการค้าที่ยังคงมีอยู่ แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมเฉพาะธุรกิจที่ยังเต็มไปด้วยหลากหลายความท้าทาย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยปี 66 อาจอยู่ที่ระดับ 3,590-3,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว 1-5% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.0%) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจากฐานที่สูงมากในปีก่อน โดยการเติบโตน่าจะเป็นผลมาจากปริมาณเป็นหลัก ซึ่งไทยน่าจะสามารถส่งออกได้เพิ่มในตลาดคู่ค้าหลักที่มีความต้องการต่อเนื่อง อาทิ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้รวมถึงอานิสงส์จากคู่ค้าใหม่ๆ ที่หาตลาดทดแทนน้ำตาลทรายจากอินเดีย และเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ เช่น จีน ซูดาน แทนซาเนีย และเคนยา เป็นต้น
ขณะที่การเติบโตจากฝั่งราคา แม้ว่าทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะมีแนวโน้มปรับลดลง แต่ด้วยต้นทุนการผลิตของไทยที่มีแนวโน้มจะขยับขึ้น จึงทำให้ระดับราคาส่งออกน้ำตาลทรายของไทยอาจย่อตัวได้จำกัด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากมองไปข้างหน้า นอกเหนือจากความท้าทายที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการอาจต้องจับตาแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลในหลายประเทศที่อาจลดลงตามเทรนด์สุขภาพ ซึ่งอาจส่งผลต่อคำสั่งซื้อน้ำตาลทรายของไทยในระยะต่อไปได้
ทั้งนี้ โดยเฉพาะคู่ค้าที่มีตลาดปลายทางอยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ที่เริ่มมีการออกกฎหมายต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง (อาทิ ภาษีความหวาน กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อทั้งซัพพลายเชนของน้ำตาล) รวมถึงนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำตาลทรายของตลาดคู่ค้า เช่น จีน หรืออินโดนีเซีย ซึ่งเร่งขยายกำลังการผลิตในประเทศให้มากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยในระยะข้างหน้าได้