นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ประจำปี 2566 และเปิดตัว "กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย และกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยปีใหม่สุขใจบ้านปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์)" ภายใต้แนวคิด "รถพร้อม คนพร้อม ประกันพร้อม"
- กรมธรรม์แรก คือ กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ความคุ้มครองหลัก ได้แก่ กรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท
กรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 50,000 บาท ในส่วนของผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 15 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000 บาท
สำหรับผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจ้างพยาบาลพิเศษ อุปกรณ์ค้ำยันต่าง ๆ (ยกเว้นไม้ค้ำยัน) รถเข็นผู้ป่วยอวัยวะเทียมภายนอกร่างกาย ค่ารักษาพยาบาลโดยแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) การฝังเข็ม จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000 บาท
- กรมธรรม์ที่สอง คือ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยปีใหม่สุขใจบ้านปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) มีรายละเอียดความคุ้มครอง ได้แก่
กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายจาก ไฟไหม้ /ฟ้าผ่า/ระเบิด ความคุ้มครองขึ้นอยู่กับสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่
- สิ่งปลูกสร้างเป็นคอนกรีต (มีผนังก่ออิฐถือปูนมากกว่า 80% ของพื้นที่ผนังทั้งหมด) ได้รับความคุ้มครอง 30,000 บาท
- สิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ (มีผนังก่ออิฐถือปูน 50-80% ของพื้นที่ผนังทั้งหมด) ได้รับความคุ้มครอง 15,000 บาท
- สิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารที่ไม่ใช่ตึกหรือครึ่งตึกครึ่งไม้ และไม่เป็นห้องแถวไม้ (มีผนังเป็นวัสดุอื่น ๆ เช่น ไม้ สังกะสี กระเบื้องแผ่นเรียบมากกว่า 50% ของพื้นที่ผนังทั้งหมด) ได้รับความคุ้มครอง 10,000 บาท
- สิ่งปลูกสร้างเป็นห้องแถวไม้ ได้รับความคุ้มครอง 5,000 บาท
กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายจาก ลมพายุ/น้ำท่วม/แผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด/คลื่นใต้น้ำ/สึนามิ/ลูกเห็บ ทุกภัยรวมกันได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 1,000 บาท การขยายความคุ้มครองค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว จำนวนเงินไม่เกินวันละ 300 บาท และรวมแล้วไม่เกิน 30 วัน ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย รวมทั้ง การประกันภัยโจรกรรม คุ้มครองการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยงัดแงะ การชิงทรัพย์ การปล้นทรัพย์ ที่อยู่อาศัยปัจจุบันของผู้เอาประกันภัย ความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้างที่ระบุร่องรอย ความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างและ/หรือค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนล็อคประตูหน้าต่าง จำนวนเงินเอาประกันภัยไม่เกิน 5,000 บาท
โดยกรมธรรม์ทั้ง 2 ประเภท เป็นกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 30 วัน ผู้เอาประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายมีสิทธิได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1 กรมธรรม์ต่อผู้ประกอบการ 1 ราย เท่านั้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 2 ประเภทในช่วงเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนคนไทย โดยได้นำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีราคาถูกมาพัฒนาต่อยอด เพื่อขยายฐานการประกันภัยให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการส่งเสริมให้ทำประกันภัยรายย่อยอย่างแพร่หลายและขยายตัวในวงกว้าง โดยจัดทำ 3 กิจกรรมต้นแบบเพื่อนำร่องในปีนี้ ได้แก่
- กิจกรรมต้นแบบแรก ไม่ว่าจะขึ้นเหนือ ล่องใต้ ไปอีสาน ไปทะเลตะวันตก ประชาชนที่เดินทางไปพักโรงแรม/ที่พักในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และชลบุรี สามารถสแกน QR Code เพื่อลงทะเบียนรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ได้ฟรี
- กิจกรรมต้นแบบที่ 2 สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) ประสานงานผู้ประกอบการในพื้นที่มอบกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ฟรี ให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ฟินิกซ์ แอดเวนเจอร์ พาร์ค, โป่งแยง จังเกิ้ล, โคสเตอร์&ซิปไลน์, ปางช้างแม่แตง อุทยานหลวงราชพฤกษ์, สวนสัตว์เชียงใหม่ และเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นต้น
- กิจกรรมต้นแบบที่ 3 สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มอบกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ฟรี ให้กับ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) เพื่อเป็นต้นแบบของผู้แทนเกษตรกรที่ใช้ระบบการประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงให้กับตนเอง ครอบครัว และเกษตรกรรม
สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้มีหลากหลายธุรกิจ เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ร้านกาแฟ ปั้มน้ำมัน และบริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล เป็นต้น ที่มีสถานบริการเครือข่ายทั่วประเทศ โดยมีจำนวนลูกค้ารวมทุกผู้ประกอบการมากกว่า 50 ล้านคน