สศอ. คาดดัชนี MPI ปี 66 โต 2.5-3.5% มองแนวโน้มศก.ในประเทศดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2022 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 66 จะขยายตัวที่ 2.5-3.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 2.5-3.5% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐโดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 66 ประกอบกับปัญหาข้อจำกัดบางประการในการผลิตคลี่คลายลง อาทิ ค่าระวางเรือมีทิศทางลดลง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับดัชนี MPI ของทั้งปี 65 คาดทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 1% เนื่องจากฐานสูงในปี 64 ส่วน GDP ปี 65 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอยู่ที่ 2%

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย ที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ในช่วงเดือนธ.ค. 65-พ.ค. 66 ได้แก่

1. ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคการผลิต ได้รับผลกระทบ มีสาเหตุมาจาก

ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

  • การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้มีมาตรการดูแล ได้แก่ ลดค่าไฟฟ้าให้ภาคอุตสาหกรรม และ ปรับปรุงกฎหมายให้โรงงานติดโซลาร์เซลล์เกิน 1MW ไม่ต้องขอ รง.4 และกลุ่มโอเปกพลัส ประกาศลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วัน ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

2. นโยบายการเงิน และค่าเงินบาท ปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย ได้แก่

  • ภาวะเงินเฟ้อ บั่นทอนกำลังซื้อภายในประเทศ ต้นทุนการเงินของ SMEs เพิ่มขึ้น
  • ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความมีเสถียรภาพของค่าเงินบาท กระทบต่อภาคการส่งออก

3. ภาวะเศรษฐกิจโลก และการระบาดของโควิด-19

  • เศรษฐกิจชะลอตัวในหลายๆ ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทย ได้แก่ สหรัฐ, จีน, ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ "ช้อปดีมีคืน 2566" และมาตรการอื่นๆ ที่จะออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ประเทศจีน มุ่งสู่เป้าหมายใหม่ด้านนโยบายเศรษฐกิจ เชื่อมโยงเส้นทางสายไหม/ทางทะเล/เมืองท่าสำคัญ, หยวน เงินสกุลหลักการค้าโลก, การผลิตอัจฉริยะ ฯลฯ และการผ่อนคลายมาตรการ ZERO COVID จะส่งผลต่ออุปสงค์ของประเทศต่างๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ