นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากผลการศึกษาผลกระทบต่อการขึ้นค่าไฟฟ้าต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เหล็กและเหล็กกล้า รองลงมา ได้แก่ ซีเมนต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เครื่องแต่งกาย และเซรามิก
ทั้งนี้ เมื่อนำอุตสาหกรรมดังกล่าวมาวิเคราะห์ต่อในมุมของการจำหน่าย โดยใช้ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) ของ สศอ. ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 65 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่า ดัชนีการส่งสินค้าของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และสิ่งทอ มีค่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรม 2 กลุ่มนี้ นอกจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าแล้ว ยังขายสินค้าได้น้อยลงอีกด้วย
นางวรวรรณ กล่าวต่อว่า ในมุมของการขึ้นค่าไฟฟ้าต่อต้นทุนการผลิต จะส่งผลกระทบต่อ MSME มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของ MSME สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ผลิตแบบ Mass Production
สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการ คือ
1. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell)
2. การใช้พลังงานในสถานประกอบการอย่างประหยัด เช่น การใช้ไฟ LED และเปิด/ปิดไฟด้วยระบบเซนเซอร์ การใช้แสงจากธรรมชาติ และการติดพัดลมระบายอากาศ เป็นต้น
3. การบริหารการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในสถานประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวางแผนการใช้งานพื้นที่ให้เหมาะสมกับการจัดเก็บ เช่น สร้างพื้นที่จัดเก็บไว้เหนือสำนักงาน เพื่อใช้พื้นที่ทุกจุดอย่างคุ้มค่า
อนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น 0.4% ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่ในปี 66 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.0% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.6%