จับตาคมนาคมผลักดันเมกะโปรเจ็กค์กว่า 5 แสนลบ. เล็งชงเข้าครม.ม.ค.-ก.พ.66

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2022 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ภายในเดือนม.ค.-ก.พ. 66 กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะผลักดันโครงการที่มีความพร้อมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติ ได้แก่ โครงการ พัฒนารถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินลงทุน 3.2 แสนล้านบาท, โครงการสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 5 เส้นทาง วงเงินกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท คือ ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมากระยะทาง 20.14 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาในปี 66

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เช่น เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 59,399.80 ล้านบาท เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 36,683 ล้านบาท

อีกทั้งจะเร่งสรุปการปรับแบบและเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา จำนวน 16 ตอน ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้สรุปรายละเอียดแล้ว กระทรวงคมนาคมจะตรวจสอบเพื่อนำเสนอครม.ต่อไป โดยค่างานที่เพิ่มขึ้นจะไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบวงเงินโครงการที่ยังเหลือ

รมว.คมนาคม ยังกล่าวว่า ตั้งแต่เดือนม.ค. 66 จะมีการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานของกระทรวงฯทุกส่วนงานทั้งหมด โดยกรณีที่มีการนำเสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมแล้วกระทรวงฯพิจารณาเห็นว่า เรื่องยังไม่เรียบร้อย ให้หน่วยงานไปดำเนินการเพิ่มเติม จะต้องเร่งดำเนินการให้เรียบร้อยภายใน 14 วัน เพื่อให้เร่งเสนอกลับมากระทรวงฯ หากล่าช้า ก็จะมีการพิจารณาประเมินผู้ที่หน้าที่รับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อการทำงานมีประสิทธิภาพ ชัดเจน รวดเร็วและโปร่งใส เพราะว่า ที่ผ่านมามีตกค้างอยู่หลายจุด และทำให้ล่าช้า

"ในการทำงานของผม ไม่คิดเรื่องวาระซึ่งตั้งแต่ผมเข้ารับตำแหน่งรมว.คมนาคมได้มีการทำงานต่อเนื่องจาก รัฐมนตรีคนเก่า โดยสิ่งที่ดำเนินการจะเป็นไปตาม Action Plan ผลการศึกษา ของแต่ละโครงการ ที่มีความพร้อม ก็เร่งนำเสนอครม.และเดินหน้าเต็มที่"

ส่วนความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ ) ชุมพร-ระนอง คาดว่าจะนำเสนอครม.ได้ในเดือนม.ค. 66 เช่นกัน โดยอยู่ระหว่างทำตารางเปรียบเทียบการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์กับโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เห็นมูลค่าที่มีความเป็นไปได้ในการลงทุน ซึ่งโครงการนี้ นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการสนับสนุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน อุดหนุนค่าเดินทางในระบบจขนส่งสาธารณะ สำหรับค่าเดินทาง 1,500 บาทต่อเดือน หักลดหย่อน 30,000 บาท/ปี ซึ่งเป็นแนวคิดที่ กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอ ในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ทั้งนี้ต้องดูภาระทางการเงินของกระทรวงคลังประกอบการพิจารณาด้วย

สำหรับผลงานในปี 65 มี 79 นโยบาย 167 โครงการ สามารถสรุปภาพรวมได้ว่าดำเนินการแล้วเสร็จหรือเปิดให้บริการแล้ว รวม 61 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 64 โครงการ และอยู่ในช่วงจัดทำแผนงานหรือออกแบบ จำนวน 42 โครงการ โดย เห็นว่า งานที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ด้านทางบก ในส่วนของการให้บริการขนส่งสาธารณะนั้น การนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ( EV Bus) มาให้บริการ ทางน้ำ คือ การให้บริการ เรือพลังงานไฟฟ้า ( EV Boat) ส่วนทางรางคือ การเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่เป็นรูปแบบการบริหารรถไฟฟ้าที่เป็นต้นแบบ แม้จะรอการต่อขยาย 5 เส้นทางแต่จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2566 จะมีการนำรถไฟพลังงานไฟฟ้า (EV on Train ) มาใช้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ