แอร์บัส บริษัทผลิตเครื่องบินเชิงพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของโลกคาดการณ์ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องบินล็อตใหม่ในปีนี้จะปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ 750 ลำ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวน 1,341 ลำในปีที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤติสินเชื่อและต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น
ต้นทุนเชื้อเพลิงเครื่องบินคิดเป็น 28% ของค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานของสายการบิน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวปรับตัวขึ้น 16% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ คาดว่าวิกฤติปล่อยกู้จำนองของสหรัฐอาจส่งผลให้ยอดขาดทุนพุ่งขึ้นถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ แอร์บัสและโบอิ้งต่างหันมาใช้โครงสร้างวัสดุที่ใช้เทคโนโลยีเส้นใยคาร์บอนซึ่งมีน้ำหนักเบามาเป็นส่วนประกอบเครื่องบินเพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง
จอห์น เลฮีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของแอร์บัส กล่าวว่า "ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤติสินเชื่อ ขณะที่สายการบินต่างเผชิญปัญหาราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบเลวร้ายต่อตลาด"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แอร์บัส ได้รับคำสั่งซื้อเครื่องบิน 420 ลำในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของคาดการณ์ยอดสั้งซื้อตลอดทั้งปีนี้ ขณะที่บริษัทโบอิ้งเปิดเผยว่า บริษัทมียอดสั่งซื้อเครื่องบินจำนวน 1,413 ลำในปีที่ผ่านมา
ด้าน EADS ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอร์บัส รายงานเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า บริษัทประสบภาวะขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีจากต้นทุนด้านการขนส่งเครื่องบินทางทหารและเครื่องบินซุปเปอร์จัมโบ้รุ่น A380 ขนาด 525 ที่นั่ง
ทั้งนี้ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศได้ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของสายการบินระดับโลกในปีนี้ลง 10% มาอยู่ที่ระดับ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดือนธ.ค.เนื่องจากภาคธุรกิจดังกล่าวเผชิญภาวะค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--