ศก.เปราะบาง "นฤมล" แนะคุมหนี้ครัวเรือนไม่เกิน 80%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 29, 2022 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กรณีที่หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจประเมินตรงกันว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 66 จะชะลอตัว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ได้เห็นผลกระทบบ้างแล้วในเดือน พ.ย.65 ส่งออกไทยหดตัวไป 6% โดยทั้งปี 65 น่าจะขยายตัวแค่ 3.2% น้อยกว่า 6% ในปี 64 ส่วนในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% เท่านั้น

ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อในช่วงปี 65 ทำให้ภาวะการเงินในตลาดโลกยังเปราะบาง แต่ในปี 66 อัตราเงินเฟ้อน่าจะถึงจุดสูงสุด และความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลดลง ปัจจัยเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อในปี 66 จึงไม่มากเท่ากับในปี 65 ประกอบกับสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ยังเข้มแข็ง อีกทั้งรัฐบาลไทยมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ และไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ตลาดการเงินไทยจึงยังถือได้ว่ามีเสถียรภาพสูง และสามารถรองรับความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ยังน่าเป็นห่วงในปี 66 คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง และธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว ทั้งที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน และหนี้ non-bank มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการเสริมเฉพาะจุดในการช่วยลดค่าครองชีพและเพิ่มรายได้ จึงยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องในปี 66

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือน จำเป็นต้องใช้นโยบายที่แก้ไขอย่างยั่งยืน เมื่อดูสถิติย้อนหลังจะพบว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมากในปัจจุบันเกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ

1) วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 54 และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากนั้นทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มจาก 60% ของ GDP ในปี 53 เป็น 80% ของ GDP ในปี 57

2) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหดตัว นโยบายพักหนี้และส่งเสริมการให้สินเชื่อเพื่อประคองเศรษฐกิจทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 80% ของ GDP ในปี 62 เป็น 90% ของ GDP ในปี 65

ส่วนนโยบายแก้หนี้ครัวเรือน ถ้ายังทำแต่เรื่องพักหนี้และเติมสินเชื่อ โดยไม่กำหนดเป้าหมายหนี้ครัวเรือนที่ชัดเจน นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้แล้ว ยังจะทำให้ครัวเรือนติดกับดักภาระหนี้ ทำให้ปัญหาฝังรากลึกลงไปอีก เป้าหมายหนี้ครัวเรือนควรกำหนดให้ไม่เกิน 80% ของ GDP เพราะระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงเกิน 80% ของ GDP แทนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จะกลับส่งผลลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 66 ต้องคำนึงถึงผลลบตรงนี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ