คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันนี้ (9 เม.ย.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี โดยเห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่วนอุปสงค์ในประเทศยังไม่ชัดเจนว่าจะฟื้นเต็มที่หรือยัง ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน
น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเป็นไปตามเป้า และการส่งออกยังขยายตัวดี แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงอาจมีผลต่อการขยายตัวของการส่งออกในระยะต่อไป
ขณะที่ความเสี่ยงด้านราคาเพิ่มสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสแรกเร่งตัวชัดเจน ทั้งจากราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าในประเทศมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแรงกดดันเหล่านี้จะผ่อนคลายลงในช่วงหลังของปีตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
"เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งที่ดีต่อเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมาและแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากนโยบายการคลัง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงทั้งด้านเงินเฟ้อและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปมีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องติดตามประเด็นทั้งสองอย่างใกล้ชิด" น.ส.ดวงมณี กล่าว
ในการประชุมครั้งนี้ กนง.มีมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในทางที่เลวร้ายลงกว่าเดิม โดยเฉพาะจากผลกระทบของปัญหาซับไพร์ม ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของธนาคารโลกที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบต่อการส่งออก
นอกจากนั้น กนง.ยังปรับสมมติฐานเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะราคาน้ำมันและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ก็มองว่าจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว ส่วนปัจจัยบวกยังเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิตจของภาครัฐ
"ราคาน้ำมันครั้งนี้ปรับสมมติฐานใน base case เพิ่มเป็น 94 เหรียญ/บาร์เรล จาก 86 เหรียญ/บาร์เรล เลวร้ายสุดอยู่ที่ 100 -120 เหรียญ/บาร์เรล จุดนี้จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวในระดับสูงได้ แต่ตอนนี้เงินเฟ้อ peak แล้ว น่าจะปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง"น.ส.ดวงมณี กล่าว
น.ส.ดวงมณี กล่าวว่า ธปท.จะติดตามแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในการประชุมครั้งต่อไปว่าจะมีการปรับลดลงอีกหรือไม่ และปรับเปลี่ยนด้วยเหตุผลอะไร หลังจากที่เฟดได้ปรับลดลงมาแล้วอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยจะลดลงตามไปด้วยหรือไม่ ยังต้องขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง
แต่ในขณะนี้ถือว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยติดลบถึง 0.15% และถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค จึงไม่เห็นว่าการที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศกว้างขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้เงินทุนไหลเข้าไทย เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว เงินทุนจากต่างประเทศน่าจะไหลเข้าคงไปที่ประเทศอื่นมากกว่าไทย
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--