คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำผู้แทนภาคเอกชน หารือนอกรอบกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เมื่อวานนี้ (29 ธ.ค.) เพื่อหารือถึงทางออก ภายหลังจากแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย. 66 ในส่วนของผู้ประกอบการจะต้องปรับสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้านั้น
โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ชี้แจงถึงมติของกระทรวงพลังงาน ให้ บมจ. ปตท. (PTT) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทบทวนประมาณการณ์สมมติฐานราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมันดีเซล อัตราแลกเปลี่ยน และภาระหนี้คงค้างของ กฟผ. เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) จากเดิมที่จะปรับสูงขึ้น 190.44 บาท/หน่วย เหลือเพียง 154.92 บาท/หน่วย ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาท/หน่วย ในรอบบิลเดือน ม.ค.-เม.ย. 66
นายสนั่น กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ฟังเสียงภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟครั้งนี้ โดยได้ช่วยลดค่า Ft จากเดิมที่จะปรับสูงขึ้น ถึงแม้ไม่ได้ตรึงราคาตามข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัว และอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วน โดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป
"ภาคเอกชนทุกสาขาธุรกิจ มุ่งมั่นพร้อมร่วมหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ในการดูแลราคาพลังงานและราคาสินค้าและบริการในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน พร้อมประคองกำลังซื้อภายในประเทศให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป" นายสนั่น ระบุ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในเบื้องต้น 3 ข้อ
1. ขอให้สมาคมธนาคารไทย พิจารณายืดขยายระยะเวลาการส่งคืนเงินต้น สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนออกไปอีก 1 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยในราคาถูก เพื่อเป็นการขอลดค่า AP (Availability Payment) หรือค่าความพร้อมจ่าย จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง
2. ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ 100% (มีมากกว่า 1 พันราย) ให้ลดการใช้ลงเหลือ 80% โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซล 20% ที่ขณะนี้มีราคาถูกกว่า หรือใช้พลังงานทดแทนอื่นที่เหมาะสม เพื่อทยอยให้ก๊าซธรรมชาติของไทยเข้าสู่ระบบมากขึ้น ในกลางปี 2566 ตามการคาดการณ์ของภาครัฐที่ประมาณการณ์จะมีมากขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะทำให้การคำนวนค่า Ft ในรอบถัดไปมีอัตราที่ลดลง
แต่การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงผู้ประกอบการบางราย อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบ ซึ่งจะมีการรวบรวมและหารือกับภาครัฐในการชดเชยผลกระทบดังกล่าว กับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือต่อไป ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนหลายรายแล้ว อาทิ เช่น SCG เป็นต้น
3. ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน) เพื่อร่วมกันหารือ แก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจในด้านพลังงานที่มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนต่อไป ซึ่งส่วนนี้หากมีการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะสามารถหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันได้
นายสนั่น กล่าวว่า หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือไปด้วยกันในข้อเสนอแนะดังกล่าว จะส่งผลให้มีการคำนวณค่า Ft ในรอบใหม่ได้เร็วขึ้น ซึ่งข้อเสนอแนะ 3 ข้อดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางของ กกร.ที่เสนอแนะต่อภาครัฐไปก่อนหน้านี้ โดยเชื่อว่าจะเป็นทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาค่าไฟสูงในระยะสั้นได้เร็วขึ้น
สำหรับระยะยาว ภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวในการใช้พลังงานทางเลือกให้เหมาะสม ในส่วนนี้เป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ แม้ว่าค่าไฟของประเทศไทยในปัจจุบันจะสูงกว่า ทั้งเวียดนาม และอินโดนิเซียก็ตาม แต่ประเทศอื่นใช้สัดส่วนพลังงานจากถ่านหินที่มากกว่าไทย
นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนก็จำเป็นต้องมีความตระหนักและปรับตัวในการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมเช่นกัน ซึ่งจะมีการหารือใน กรอ. พลังงาน เพื่อสร้างมาตรการและปลูกฝังจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานในลำดับต่อไป