นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ออกประกาศ กนง. เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2566 ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65 มีมติอนุมัติตามที่ รมว.คลัง และ กนง.มีข้อตกลงร่วมกัน กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2566
การกำหนดเป้าหมายที่ 1-3% ยังมีความเหมาะสม เนื่องจาก
1. การคงเป้าหมาย เป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน และช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย
2. ช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อมีความผันผวน และไม่แน่นอนสูง การปรับเป้าหมายอาจสร้างความสับสนต่อสาธารณชนเกี่ยวกับแนวนโยบายในระยะข้างหน้า
3. การกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้าง 2% มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลาง รวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลาง สามารถดำเนินควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
"ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และปัจจัยที่ส่งผลต่อพลวัตเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ให้มีความสอดประสาน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน"
ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงสุดในไตรมาส 3/65 และมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินภายในปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ภายนอกประเทศ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ด้านพลังงาน และภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตได้
ดังนั้น กนง.จะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มีต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนก่อนหน้า หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า เคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง.จะมีจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง เพื่อชี้แจงถึง
1. สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย
2. แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา และระยะต่อไป เพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
3. ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย
นอกจากนี้ กนง.จะมีจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง ทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้น ยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร