นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดภาวะการส่งออกในเดือน ธ.ค.65 ยังหดตัวต่อเนื่องที่ระดับ 7.5% ส่งผลให้การส่งออกในปี 65 จะขยายตัวอยู่ที่ 6.3% ภายใต้กรอบ 6-6.5%
"การส่งออกในเดือนธันวาคมน่าจะหดตัวต่อเนื่อง ติดลบ 7.5% แต่ตัวเลขส่งออกทั้งปีน่าจะโตอยู่แถวๆ 6.3% บวกลบไม่เกิน 0.1%" นายชัยชาญ กล่าว
ขณะที่ภาวะการส่งออกปี 66 มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยนั้น โดยการส่งออกอาจซึมยาวจนถึงเดือน มี.ค.66 จะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 จากการเปิดประเทศของจีน และมีอัตราการเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่ง สรท.ประเมินการส่งออกในไตรมาส 1/66 จะติดลบ 2.1% และไตรมาส 2/66 ติดลบ 2.7% ส่วนไตรมาส 3/66 จะขยายตัว 3.9% และไตรมาส 4/66 ขยายตัว 10.5% ทำให้การส่งออกทั้งปี 66 ขยายตัว 2% จากกรอบ 1-3%
"สัญญาณชีพส่งออกแผ่วต่อเนื่อง คาดซึมยาวถึงมี.ค. รอลุ้นไตรมาส 2 จะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งผู้ส่งออกบอกว่าพร้อมกัดฟันสู้ครึ่งปีหลังให้โต 1-3%" นายชัยชาญ กล่าว
โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่
1.เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนรุนแรงแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน
2.สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) อาจมีการชะลอหรือลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Rate) ลง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาที่ไทยมากขึ้นเป็นเท่าตัว
ประธาน สรท.กล่าวว่า ถึงแม้เงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และมีอัตราแข็งค่ามากกว่าค่าเงินในภูมิภาคจะส่งผลให้เกิดความเสียเปรียบในการแข่งขัน แต่การส่งออกช่วง 11 เดือนแรกของปี 65 สามารถขายสินค้าได้แพงมากขึ้น ขณะที่มีปริมาณการส่งออกใกล้เคียงช่วงเดียวกันของปีก่อน
3.ดัชนีภาคการผลิต PMI ในตลาดส่งออกสำคัญเริ่มชะลอต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนกำลังการผลิตและความต้องการของประเทศคู่ค้า
4.ราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลัก ยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตโดยรวมทั่วโลกปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับข้อเสนอแนะของ สรท. ประกอบด้วย
1.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF (มาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อลดต้นทุนของสถาบันการเงิน) เป็น 0.46 จากที่ลดลงไป 0.23 ในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการในทุกระดับ โดยเฉพาะ SMEs
2.ขอให้ช่วยชะลอหรือกำกับดูแลมาตรการภาครัฐใหม่ หรือยกเลิกมาตรการเดิมที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ/ผู้ผลิต ให้น้อยลง เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น กำกับดูแลค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน (น้ำมัน) และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น
3.สนับสนุนและเร่งรัด ความต่อเนื่องของการเจรจา FTA อาทิ TH-EU / TH-GCC (กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง)
4.ขอให้เร่งขยายมาตรการ Soft power สินค้าอัตลักษณ์ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสามารถสร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่มากขึ้น
"ตอนนี้หมดห่วงเรื่องปัญหาค่าระวางไปได้แล้ว ส่วนราคาน้ำมันปีนี้ หากปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่จบ ราคาน่าจะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล" นายชัยชาญ กล่าว