นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า การส่งออกไทย ปี 66 มีโอกาสเติบโตได้เพียง 1% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 63 ขณะที่มูลค่าการส่งออก คาดว่าอยู่ที่ราว 2.95 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การส่งออกไทยในปี 66 มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว, ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ, ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่สูง, อัตราเงินเฟ้อ ปี 66 แม้จะมีแนวโน้มลดลงจากปี 65 แต่ยังอยู่ในระดับสูง, ราคาวัตถุดิบและสินค้ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) อุตสาหกรรมจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ
พร้อมกันนี้ ยังมองว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 66 การส่งออกไทยมีโอกาส -3.4 ถึง -1.8% เนื่องจากยังเป็นสถานการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากไตรมาส 4 ของปี 65 ที่คำสั่งซื้อชะลอตัว จากผลกระทบของเศรษฐกิจกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามเนื่องจากจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ด้วยเช่นกัน คือ 1. การยกเลิกนโยบาย Zero COVID ของจีน 2. เงินบาทยังอ่อนค่ากว่าปี 65 แต่เริ่มมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 3. มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมของประเทศคู่ค้า จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย และ 4.เทรนด์ของผู้บริโภคในปี 2023 ที่เน้น 3 ส. คือ สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม-สังคม
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้ คาดว่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากในปี 65 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 35.10 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อค่าเงินบาท ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, ทิศทางเงินเฟ้อ แม้จะมีการประเมินว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว, การเปิดประเทศของจีน, ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัว, การเลือกตั้งในประเทศ ที่ต้องจับตานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ และทิศทางนโยบายการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 2.7% ลดลงจากปี 65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.2% โดยเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา ยกเว้นจีน ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4.4% แต่ทั้งนี้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่สหรัฐฯ มีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนยุโรป และอังกฤษ เศรษฐกิจอาจอยู่ในภาวะถดถอยจากวิกฤติพลังงาน และรายได้ของประเทศ
สำหรับความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยจะมีผลให้ GDP โลกในปี 66 หายไป 0.4-1.0% โดยผลพวงจากสงครามที่ยืดเยื้อนี้ นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงแล้ว ยังส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง ส่วนราคาสินค้าปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปี 66 ให้ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะชะลอตัวลงจากปี 65 นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในปีนี้ ให้หายไป 0.7-1.7% หรือคิดเป็นมูลค่าที่จะลดลงราว 2-5 พันล้านดอลลาร์
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปีนี้ คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 85.5 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากปีก่อน 12.9% โดยปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในปี 66 ได้แก่ ความต้องการน้ำมันของจีนเพิ่มขึ้น หลังจากจีนประกาศเปิดประเทศ ซึ่งจะทำให้มีการเดินทางมากขึ้น, สงครามรัสเซีย-ยูเครน และการตอบโต้ของรัสเซียกับการจำกัดเพดานราคาน้ำมันตามนโยบาย Price Cap ของกลุ่ม G7, สภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลต่อความต้องการพลังงานในยุโรป, กลุ่ม OPEC ลดกำลังการผลิตน้ำมัน
นายอัทธ์ กล่าวด้วยว่า การส่งออกของไทยในปี 66 ที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากปัญหาความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ยังอาจมีผลมาจากปัญหาข้อพิพาททางนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐและจีนด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์, เสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่ม, รถยนต์, อาหารทะเลแปรรูป
ส่วนผลจากการยกเลิกนโยบาย Zero COVID ของจีน ที่จะมีต่อการส่งออกไทยนั้น ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบไว้เป็น 3 กรณี ดังนี้
- กรณีที่โควิดไม่ระบาดในจีน (กรณีดีสุด ซึ่งเป็นไปได้ยาก) จะทำให้การส่งออกไทยไปจีน ขยายตัว 2.6-3.3%
- กรณีที่โควิดระบาดในจีน แต่การควบคุมมีประสิทธิภาพ และเปิดประเทศ (กรณีฐาน) จะทำให้การส่งออกไทยไปจีน ขยายตัว 2.0-2.6%
- กรณีที่โควิดระบาดในจีน แต่ขาดประสิทธิภาพในการควบคุม และต้องปิดประเทศ (กรณีแย่สุด) จะทำให้การส่งออกไทยไปจีน หดตัว 0.4-1.9%
ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่ายังมีมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ที่ต้องจับตา คือ
1. กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ มิ.ย.66 โดยจะมีผลกระทบต่อสินค้าในกลุ่มยางพารา ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว
2. กฎหมาย Clean Competition Act (CCA) โดยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอน ของสหรัฐ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.67 โดยจะมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม, ปุ๋ย, ปิโตรเคมี, ซีเมนต์, เหล็ก, อะลูมิเนียม, กระจก, กระดาษ และเอทานอล เป็นต้น
3. มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.66 โดยจะมีผลกระทบต่อสินค้าในกลุ่มเหล็ก เหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และพลาสติก ไฮโดรเจน เป็นต้น
4. การเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกใหม่ ของสหรัฐฯ (ยังไม่กำหนดวันเริ่มใช้บังคับ) โดยจะมีผลกระทบกับสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก