นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม ระบุการที่รัฐบาลกำหนดนโยบายให้ปี 51-52 เป็นปีแห่งการลงทุน พร้อมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนจะมีส่วนผลักดันให้ยอดการลงทุนของไทยในช่วง 4 ปีขยายตัวเพิ่มจาก 2.1 ล้านล้านบาท เป็น 3 ล้านล้านบาท
ในปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ 1.2 แสนล้านบาท, ไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม สายการบิน ท่าเรือ โรงแรม และ ศูนย์ประชุม 1.5 แสนล้านบาท รวมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมกระดาษ 9 แสนล้านบาท, อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ 8 หมื่นล้านบาท, อุตสาหกรรมเหล็ก 8 หมื่นล้านบาท, อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร และพลังงานทดแทน 6 หมื่นล้านบาท, อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 7 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ระบุว่า บีโอไอเตรียมออก 8 มาตรการเพื่อเร่งส่งเสริมการทุนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนไว้ 6 แสนล้านบาท, ปี 52 จำนวน 8 แสนล้านบาท, ปี 53 จำนวน 7.8 แสนล้านบาท และปี 54 อีก 8.2 แสนล้านบาท
มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ, การสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต, การส่งเสริมอุตสาหกรรมพื้นฐาน, การส่งเสริมให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน, การออกมาตรการจูงใจให้บริษัทที่ได้รับการส่วเสริมการลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยไปลงทุนในต่างประเทศ, การประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อส่งเสริมการลงทุน, การเพิ่มมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาความร่วมมือในการแข่งขันและการลงทุน
นายสุวิทย์ กล่าวว่า จากการหารือกับนักธุรกิจต่างชาติพบว่ายังให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในระดับภูมิภาคด้วย อีกทั้งเชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนักธุรกิจต่างชาติเข้าใจดี
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--