รัฐเผย กม.ปกป้องผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเริ่มใช้แล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 10, 2008 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.รบ.มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 ได้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศจนสร้างความเสียหายแก่ผู้ประกอบการของไทย แต่ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่จะใช้เยียวยาเพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศได้ปรับตัว ไม่ใช่มาตรการปกป้องเพื่อกีดกันการนำเข้า
"พ.ร.บ.นี้จะช่วยคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงจากการนำเข้าสินค้าในปริมาณที่มากกว่าปกติ" นางอัญชนา กล่าว
ทั้งนี้การใช้มาตรการปกป้องได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ มีการนำเข้าสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น, อุตสาหกรรมภายในได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง และมีความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและความเสียหายอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมภายใน
โดยความเสียหายจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ อัตราและปริมาณของการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น, ส่วนแบ่งตลาดของสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น, การเปลี่ยนแปลงของระดับการขาย, ผลผลิต, ผลิตภาพ, กำลังการผลิตที่แท้จริง, กำไร-ขาดทุน และการจ้างงาน
นางอัญชนา กล่าวว่า หากผู้ประกอบการพบว่ามีสินค้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาในปริมาณมากจนสร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในสามารถยื่นเรื่องมาได้ที่กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องจะร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการปกป้องฯ ซึ่งอาจออกมาในรูปของการเรียกเก็บภาษี, การกำหนดโควตานำเข้า หรือมาตรการอื่นๆ ตามสมควร โดยระหว่างนี้จะมีกระบวนการไต่สวนซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 9-12 เดือน
ปัจจุบันมีบางประเทศได้ใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าฯ กับสินค้าจากประเทศไทยแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ ใช้มาตรการปกป้องฯ กับสินค้ากระเบื้องปูพื้น และกระจกจากไทย, อินเดีย ใช้มาตรการปกป้องฯ กับสินค้าแป้งมันจากไทย และอินโดนีเซีย ใช้มาตรการปกป้องฯ กับกระเบื้องเซรามิกจากไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ