นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยเป้าหมายการส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทยในปี 2566 ว่า กระทรวงพาณิชย์พร้อมเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยอีก 20 สินค้า เร่งรัดคำขอขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 15 สินค้า รวมถึงจัดงานส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาด ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทยตามแนวนโยบาย GI Plus
อาทิ การเผยแพร่อัตลักษณ์สินค้า GI ผ่านเมนูอาหารไทย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามทันสมัย การส่งเสริมแหล่งผลิตสินค้า GI ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างการรับรู้ทั้งในและต่างประเทศ ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการดึงทรัพยากรที่มีศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ มาใช้ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
"กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ส่งเสริมสินค้า GI ไทยอย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการสนับสนุนสินค้า GI ไทย ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง" นายสินิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 65 ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยจำนวน 25 สินค้า อาทิ ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา, ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส, ไชโป้วโพธาราม, พุทรานมบ้านโพน และผ้าไหมปักธงชัย เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสินค้าท้องถิ่นไทยที่ขึ้นทะเบียน GI ทั้งสิ้น 177 สินค้า สร้างมูลค่าการตลาดกว่า 48,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ได้มีการผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ในประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI พร้อมพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ตอบสนองความต้องการของตลาด ตลอดจนขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้า GI ได้อย่างกว้างขวาง
รมช.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ร่วมมือกับมิชลินไกด์ประเทศไทย พาเชฟระดับมิชลิน นำโดยเชฟชาลี กาเดอร์ จากร้าน 100 มหาเศรษฐ์ ร้านอาหารอีสานที่ได้รางวัลบิบ กูร์มองด์ จากมิชลินไกด์ประเทศไทย และเชฟเดวิด ฮาร์ตวิก จากร้าน IGNIV Bangkok ที่ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประจำปี 2565 โดยได้มีการลงพื้นที่คัดสรรวัตถุดิบ GI จากแหล่งผลิตในภาคอีสาน 4 สินค้า คือ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์, หอมแดงศรีสะเกษ, กระเทียมศรีสะเกษ และเนื้อโคขุนโพนยางคำ เพื่อนำมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารฟิวชั่น ที่ผสมผสานความเป็นไทยและสากลได้อย่างลงตัว
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการถ่ายทอดอัตลักษณ์สินค้า GI สู่โลกออนไลน์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ช่วยยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นไทยสู่สากล อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการนำวัตถุดิบ GI มาสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคได้ลิ้มลอง