นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 18 ม.ค.66 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เข้าร่วมการเสวนาในฐานะผู้เสวนาหลัก (Lead Speaker) ภายใต้หัวข้อการขยายตัวทางการคลัง (Fiscal Expansion: A welcome Return or Ticking Bomb?) และการเสวนาหัวข้อบทบาทของผู้นำอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (ASEAN Leaders for Just Energy Transitions) โดยสรุปผลการเสวนาได้ดังนี้
การเสวนาหัวข้อการขยายตัวทางการคลัง ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองในการสร้างสมดุลระหว่างการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง โดย รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้กู้ยืมเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งการรักษาเสถียรภาพในนโยบายการเงินทำให้นโยบายการคลังสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังได้กลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง กล่าวคือ มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และมุ่งเน้นการชำระหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจากการกู้ยืมดังกล่าว
ส่วนการใช้มาตรการด้านการคลังนั้นยังคงเป็นไปเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเน้นการรักษาดุลการคลังให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ผ่านการพัฒนาการจัดเก็บรายได้และปฏิรูปภาษีไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ รมว.คลังได้ย้ำถึงการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารกลาง เช่น การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อร่วมกัน โดยยังคงต้องรักษาเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น ทั้งนี้การกำหนดนโยบายการคลังควรพิจารณารักษาวินัยทางการคลัง โดยเป็นไปตามกฎหมายด้านการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
ส่วนการเสวนาหัวข้อบทบาทของผู้นำอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนของอาเซียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนหรือผู้ประกอบการที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานแบบดั้งเดิมอยู่ ทั้งนี้ รมว.คลังได้ย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 รวมถึงได้ปรับปรุงเป้าหมายการดำเนินงานในการลดก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally determined contributions: NDCs) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model) ซึ่ง รมว.คลังได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการคลังในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว อาทิ การระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bond) หรือตราสารหนี้ข้ามพรมแดน และการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานด้วย