น.ส.ฐิติมา ชูเชิด เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศออกมา ทำให้รัฐบาลจะสูญสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่สามารถสร้างรถไฟฟ้าสีม่วงได้ 1 สาย แต่จะมีผลให้อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 51-52 สูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมประมาณ 0.1-0.2%
มาตรการที่สำคัญและมีผลอย่างมาก คือ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้ไม่เกิน 150,000 บาท/ปี, การเพิ่มค่าลดหย่อนการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF/RMF, มาตรการหักค่าเสื่อมราคาได้มากขึ้นในปีแรกสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ซื้อในช่วงปี 51-52 รวมทั้ง การลดภาษีธุรกิจเฉพาะให้ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า และลดภาษีธุรกิจเฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์
ส่วนมาตรการอื่นใน 16 มาตรการจะมีผลทางอ้อมโดยเฉพาะทางจิตวิทยา
“ รัฐมี 2 ทางเลือกคือ การใช้เงินตัวเองอัดฉีด หรือให้คนและธุรกิจประหยัดภาษีและนำเงินนั้นไปบริโภค ซึ่งมันคุ้มค่าทาง GDP แม้ตัวเลขจะไม่สูง แต่มันมีผลทางด้านจิตวิทยาในระยะต่อไปการบริโภค การลงทุนจะเร่งตัวขึ้น" น.ส.ฐิติมาระบุ
น.ส.ฐิติมา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลสามารถทำงบประมาณขาดดุลในปีต่อไปได้สูงถึง 2-3% ของ GDP เนื่องจากการทำงบประมาณขาดดุลปี 52 ที่ 2.5% ของ GDP อยู่ภายใต้สัดส่วนหนี้สาธารณะที่ 40% ของ GDP ยังเอื้อที่จะขาดดุลเพิ่มขึ้นได้ แต่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน หรือการจัดสรรทรัพยากร
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--