เอาจริง! คุมเข้มยกระดับปราบภัยหลอกลวงออนไลน์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 20, 2023 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือเพื่อดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง เด็ดขาด โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้บูรณาการการดำเนินงาน เดินหน้าปราบปรามการลักลอบใช้อินเทอร์เน็ตข้ามประเทศผิดกฎหมาย แก้ปัญหาซิมผี และบัญชีม้า โดยมีความคืบหน้า ดังนี้

1) การแก้ปัญหาการลักลอบใช้อินเทอร์เน็ตข้ามประเทศผิดกฎหมาย กสทช. ได้กำชับผู้ให้บริการโทรคมนาคมเข้าตรวจสอบการใช้บริการอินเทอร์เน็ตข้ามประเทศ และได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบหาบริเวณที่มีการกระทำความผิด รวมถึงตัวผู้กระทำผิด

2) การแก้ปัญหาซิมผี กสทช. ดำเนินการให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมแจ้งเจ้าของซิมโทรศัพท์มายืนยันตัวตนให้ถูกต้อง ตามแผนงาน ดังนี้

กรณีผู้มี 100 ซิมขึ้นไป ประมาณ 8,000 ราย ให้ยืนยันตัวตนภายในเดือนมกราคม 66

กรณีผู้มี 30 ซิมขึ้นไป ประมาณ 22,000 ราย ให้ยืนยันตัวตนภายในเดือนมีนาคม 2566

กรณีผู้มี 5 ซิม ขึ้นไป ประมาณ 380,000 ราย ให้ยืนยันตัวตนภายในเดือนมิถุนายน 2566

3) การแก้ปัญหาบัญชีม้าและบัญชีต้องสงสัยนำไปใช้กระทำผิดกฎหมาย สำนักงาน ปปง. ได้จัดทำประกาศ หลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 และได้แจ้งรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย ให้สถาบันการเงินดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ ดีอีเอส อยู่ระหว่างเสนอ (ร่าง) พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ให้เป็นรูปธรรม

ขณะที่น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโฆษก ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินปรับปรุงและพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยให้เท่าทันวิธีการหลอกหลวงรูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะกำหนดให้สถาบันการเงินต้องยกระดับการจัดการภัยหลอกลวง และ ภัยทุจริตเป็นความเสี่ยงระดับองค์กร และต้องกำหนดแนวปฏิบัติอย่างชัดเจนโดยเร็ว

ตัวอย่างเช่น กำหนดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking หรือบัญชีกระเป๋า e-Wallet ของแต่ละผู้ให้บริการทางการเงิน และให้ใช้งานบน 1 อุปกรณ์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการนำบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking หรือกระเป๋า e-Wallet ไปใช้ในทางไม่สุจริต มีกระบวนการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขั้นตอนการเปิดบัญชีเงินฝาก และการเปิดบัญชี e-Money โดยตรวจสอบให้ชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝาก หรือบัญชี e-Money ที่ใช้โอนเงินสอดคล้องตรงกันกับชื่อเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่

นอกจากนี้ ให้งดเว้นแนบลิ้งก์ผ่านช่องทางข้อความสั้น (SMS) อีเมล และ โซเชียลมีเดีย ที่เป็นการขอข้อมูลในการยืนยันตัวตนและข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน รหัสผ่านใช้ครั้งเดียว (OTP) รหัส PIN หมายเลขบัตรประชาชนชน วันเดือนปีเกิด เป็นต้น

ทั้งนี้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคการเงิน อาทิ ดีอีเอส กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) สำนักงานกสทช. สมาคมธนาคารไทย และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อวางมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความตระหนักรู้ และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนผ่านช่องทางของหน่วยงาน อีกทั้งยังอยู่ระหว่างร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย ในการกำหนดแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลการทุจริต และบัญชีม้า ระหว่างธนาคาร เพื่อลดจำนวนบัญชีม้า และลดความเสียหายจากการถูกทำทุจริตด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ