นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)ของไทยในไตรมาส 2/51 จะขยายตัวแค่ 4% ซึ่งต่ำสุดในปีนี้ เนื่องจากมีปัญหาการเมืองเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ GDP ทั้งปี 51 ลดลงเหลือ 4-5% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4.5-5.0% จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
"สถานการณ์เศรษฐกิจของไตรมาส 2 ของไทย คงขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของการเมือง และหากสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกก็จะบั่นทอนให้ภาวะจีดีพีโดยรวมชะงัก"นายอนุสรณ์ กล่าวในการสัมมนา"เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 และ ผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐ"
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ปัจจัยด้านการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป หากสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพและสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการเผชิญหน้าได้ ก็จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามที่คาดไว้
ส่วนของอัตราเงินเฟ้อนั้น ในไตรมาส 2/51 มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 6% จากราคาอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง โดยมหาวิทยาลัยรังสิตได้ปรับประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 51 มาอยู่ที่ 5-5.5% จาก 4-5% แต่เชื่อในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้แรงกดดดันจากเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง
และ ภายใต้ที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงในขณะนี้จะส่งผลให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในช่วงนี้คงทำได้ยาก หรืออาจไม่สามารถปรับลดลงได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนในระบบการเงิน เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายอนุสรณ์ ไม่เห็นด้วยกับการใช้การดำเนินนโยบายการเงินหรือปรับลดดอกเบี้ยมาช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจากมองว่าไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แต่โดยส่วนตัวมองว่าการที่ กนง.ไม่ปรับลดดอกเบี้ยขณะนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นและมีการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนในระยะสั้น
ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะต้องดูแลไม่ให้เงินแข็งค่าจนเกินไป แต่การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าถือเป็นเรื่องปกติที่จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดเงินและตลาดทุนแถบเอเชีย โดยการเปลี่ยนจากการถือครองเงินสกุลดอลลาร์มาเป็นเงินสกุลเอเชีย และเชื่อว่าค่าเงินในภูมิภาคเอเชียรวมถึงเงินบาทจะยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
นายอนุสรณ์ คาดว่า ช่วงไตรมาส 2/51 ค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์ แต่ในช่วงสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31.00-31.50 บาท/ดอลลาร์
"ส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมของธนาคารสหรัฐฯ (เฟด) ครั้งต่อไป คงจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัญหาซับไพร์มที่ยังลากยาว ซึ่งจะทำให้มีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและไทยแตกต่างกันมาก ซึ่งจริงๆแล้ว กนง.สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ เพียงแต่จะต้องดูแลในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินให้ดี"นายอนุสรณ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้น่าจะทรงตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลงไปแล้วตามเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการกู้ยืมเงินในประเทศเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบในช่วงที่เหลือของปีนี้ทยอยปรับลดลง ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยยังสามารถปรับลดลงได้อีกอย่างน้อย 0.50%
นายอนุสรณ์ ยังประเมินสถานการณ์การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐว่าจะบรรเทาลงในช่วงกลางปีนี้ หลังจากที่ดำเนินนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากและต่อเนื่องจนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น(เฟดฟันด์เรท)ลงมาอยู่ที่ 2.25% รวมทั้งเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ และ มีมาตรการผ่อนคลายภาระภาษีให้กับประชาชน
แต่จากผลกระทบของปัญหาซับไพร์ม ซึ่งอาจจะลากยาวต่อไปจนอาจทำให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐได้รับผลกระทบไปด้วย ในส่วนของประเทศไทย สถาบันการเงินอาจได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้สถาบันประกันเงินฝาก เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีการควบรวมกิจการกันมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนสูงและไม่แข็งแรงพอ
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/นิศารัตน์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--