ข่าวดี! รถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ คาดแล้วเสร็จภายในปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday January 21, 2023 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ งบประมาณก่อสร้าง จำนวน 21,467 ล้านบาท ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยพ.ศ. 2558-2565 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และลดระยะเวลาในการเดินทางและการขนส่งสินค้า เพื่อเร่งยกระดับให้บริการโลจิสติกส์สู่พื้นที่ภาคเหนือ โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2566

โครงการดังกล่าวเป็นงานก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนานไปกับทางรถไฟเส้นเดิมของช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ รวมระยะทางประมาณ 145 กิโลเมตร โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตทางรถไฟและเป็นทางวิ่งระดับพื้นระยะทางประมาณ 116 กิโลเมตร และทางช่วงเลี่ยงเมืองลพบุรีเป็นโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร ประกอบด้วยงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ จำนวน 2 สัญญา และงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม

สัญญาที่ 1 ได้แก่ ช่วงบ้านกลับ - โคกกระเทียม เป็นการเป็นก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ใหม่ เพื่อเบี่ยงแนวเส้นทางเดิมช่วงที่ผ่านเข้าตัวเมืองลพบุรี ระยะทาง 29 กิโลเมตร เริ่มต้นที่บริเวณสถานีบ้านกลับ จังหวัดสระบุรี สิ้นสุดบริเวณสถานีโคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี ประกอบด้วย ทางรถไฟยกระดับ 23 กิโลเมตร และทางรถไฟระดับพื้นดิน 6 กิโลเมตรเดือนธันวาคม 2565 ก้าวหน้าไปแล้ว 81.72%

สัญญาที่ 2 ช่วง ท่าแค - ปากน้ำโพ เป็นงานก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มอีก 1 ทาง ขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม ระยะทาง 116 กิโลเมตร เริ่มต้นที่บริเวณสถานีท่าแค จังหวัดลพบุรี โดยก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม สิ้นสุดบริเวณสถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เดือนธันวาคม ก้าวหน้าไปกว่า 75.60 %

ส่วนงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม เดือนธันวาคม มีความก้าวหน้า 26.33% ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566

โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ รูปแบบการพัฒนาทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทางขนานไปกับทางรถไฟเดิม ในส่วนของการออกแบบก่อสร้างสถานียังคงเอกลักษณ์ท้องถิ่นเป็นหลัก มีการนำสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อให้เกิดความสวยงามและกลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศผสมผสานกับความทันสมัยและความคิดสร้างสรรค์ทั้งสถานีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เน้นความปลอดภัย ง่ายต่อการขนส่ง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันเพื่อสนับสนุนการเดินทางของประชาชน และการคมนาคมขนส่งของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ และมีการอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟเดิมทุกสถานี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ