นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมด้วย บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BCJ) ผู้พัฒนาโมเดลโชห่วย สู่ค้าปลีกยุคใหม่ "ร้านโดนใจ" และเครือข่ายพันธมิตรทางการเงิน ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารออมสิน ประกาศความร่วมมือทางการเงิน ยกระดับธุรกิจร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยชุมชน "ร้านโดนใจ" เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชน และฐานรากของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ที่ต้องการมีกิจการเป็นของตัวเอง และผู้ประกอบการร้านโชห่วย ที่ต้องการยกระดับพัฒนาโมเดลสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เสริมแกร่งกิจการสู่ความยั่งยืน ด้วยระบบบริหารจัดการหน้าร้าน หรือ POS ซึ่งเป็นระบบการจัดการ ช่วยเสริมประสิทธิภาพการขายหน้าร้าน และเครือข่ายซัพพลายเออร์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บสย. ได้สนับสนุนค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วย มากกว่า 70,000 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ กลุ่มกิจการค้าปลีกรวมกว่า 50,000 ล้านบาท มั่นใจว่าจะช่วยให้ร้านค้าโชห่วยใน Supply Chain ภายใต้โมเดล "ร้านโดนใจ" สามารถเข้าถึงสินเชื่อ โดยมี บสย. ค้ำประกันมากกว่า 400 ร้านค้า พร้อมเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ลดการพึ่งพาเงินทุนนอกระบบ ผ่าน 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่
1. โครงการค้ำประกันสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยถูก พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. ไม่เกิน 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก และดอกเบี้ย 5 ปีแรก เฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี
2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน ระยะที่ 7 หรือ Bi 7 ค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อขั้นต่ำ 2% ต่อปี บสย. ค้ำประกันสูงสุด 10 ปี
3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยง ที่จะช่วยให้ลูกค้ารับภาระค่าธรรมเนียมค้ำลดลงตามความเสี่ยง
นอกจากนี้ บสย. ยังมีบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A.Center) เติมความรู้ทางการเงินและธุรกิจ แนะนำแนวทางการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การปรับปรุงแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ ลงทะเบียนผ่านช่องทาง LINE TCG First 24 ชั่วโมง
ด้านนางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BCJ) กล่าวว่า แพลตฟอร์มร้านโดนใจ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกลงทุนและสินค้าที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไร และใช้งบลงทุนไม่สูง จึงมั่นใจว่าจะช่วยเติมเต็มการพัฒนายกระดับร้านโชห่วยในประเทศไทย ให้เติบโตได้ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดี สร้างระบบนิเวศธุรกิจตั้งแต่ผู้ประกอบการ คู่ค้า และซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้าใน eco system ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวสู่ 30,000 ร้านค้าภายในปี 2570